วันที่สองของการประชุมในหัวข้อ “อุบัติการณ์แห่งความเป็นจริง (Emerging Realities)”

20 October 2022

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2022 ของการประชุมในหัวข้อ “อุบัติการณ์แห่งความเป็นจริง” ในการประชุมสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย เริ่มต้นด้วยพิธีบูชาขอบพระคุณ โดย พระคาร์ดินัล โฮเซ่ ฟูร์เตย์ แอวิทคูล่า

ณ ห้องประชุมเซนต์ไมเกิ้ล พระคาร์ดินัล ออสวอลด์ กราเซียส ประธานการประชุมฯ ในวันนี้ได้นำบรรดาผู้เข้าร่วมประชุมสวดภาวนาเช้า ซึ่งรับผิดชอบโดยซิสเตอร์ นิลันธีร์ รานาซิงห์ ผ่านระบบการประชุมทางไกลจากประเทศศรีลังกา

ในช่วงแรกของการประชุม หัวข้อ “เยาวชน : เสียงของพระศาสนจักร” เริ่มด้วยการอภิปรายในกลุ่มย่อยถึงความกังวลและบทบาทของเยาวชนในพระศาสนจักร ผู้บรรยายท่านแรก คือ คุณพ่ออากิระ ทาคายามะ พระสงฆ์ผู้ทำงานกับเยาวชนในสังฆมณฑลทาคามัตสึ ท่านได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของพระสงฆ์ที่ต้องรับฟังบรรดาเยาวชนและประกาศพระวรสารในรูปแบบใหม่ ท่านได้แบ่งปันประเด็นทั่ว ๆ ไป จากสภาเยาวชนและพระสงฆ์ในประเทศญี่ปุ่น – ความสำคัญในการมีส่วนร่วมกับเยาวชน บทบาทของพระศาสนจักรที่แตกต่างจากบทบาทของที่บ้าน ที่ทำงาน และที่โรงเรียน ความสำคัญของเยาวชนมีความหมายมากกว่าการทำงาน ท่านหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบรรดาผู้อาวุโสและผู้นำของพระศาสนจักรจะให้คำแนะนำด้านจิตวิญญาณและมีเมตตาต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพของบรรดาเยาวชน

พระคาร์ดินัลกราเซียส ได้เชิญตัวแทนเยาวชนสองคนมากล่าวสุนทรพจน์ ได้แก่ คุณแอนโทนี่ จูดี้ และคุณอชิตา จิมมี่ เรื่องราวของพวกเขาชวนให้คิดว่า ในระยะเวลาห้าปีของการทำซีนอด เพื่อการก้าวเดินไปด้วยกันของพระศาสนจักร ต้องทบทวนให้ถี่ถ้วนว่าพระศาสนาจักรจะเดินหน้าไปอย่างไร พวกเขาพูดถึงความสำคัญในการแสดงออกซึ่งความไว้ใจและความสนใจอย่างแท้จริงแก่บรรดาเยาวชน เพื่อร่วมเดินทางไปพร้อม ๆ กับบรรดาเยาวชน

คุณเกรกอรี ปราวิน ผู้ทำงานอภิบาลเยาวชนในอัครสังฆมณฑลกัวลาลัมเปอร์ กล่าวถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ส่งผลให้ผู้คนอาศัยอยู่ในโลกดิจิทัล เป็นโลกแห่งปัจเจกนิยม เน้นการพึ่งพาตนเองโดยไม่เห็นความสำคัญของพระเจ้า และได้เชิญชวนผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านให้ตั้งคำถามใหม่ จากเดิม “คนหนุ่มสาวหายไปไหน” มาเป็น “ฉันไม่ได้อยู่ท่ามกลางคนหนุ่มสาว” และเรียกร้องให้เพิ่มบทบาทมากกว่าการเป็นเพียงนายชุมพาบาล ให้เป็นผู้แสวงหา คุณปราวิน กล่าวถึงความสำคัญในการปรับโครงสร้างใหม่ และการพัฒนาเครื่องมือและวิธีการที่จะนำเยาวชนกลับมามีส่วนร่วมอย่างจริงจังกับพระศาสนจักร

ผู้บรรยายท่านต่อมา คือ สมาชิกของคณะทำงานสตรีในทวีปเอเชีย ได้แก่ ดร.สเตฟานี พวน ศาสตราจารย์ ด้านเทววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอันเตเนโอ เดอ มานิลา, ดร.แมรี่ หยวน ศาสตราจารย์ด้านเทววิทยาแห่งวิทยาลัยเทววิทยาและปรัชญา ฮ่องกง และซิสเตอร์ราสิกา ปิเอริส นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจากโคลัมโบ เมื่อกล่าวถึง “วิถีทางและบทบาทใหม่ ๆ ของบรรดาสตรีสำหรับพระศาสนจักรในเอเชีย” พวกเขาได้ให้บริบทและภูมิหลังของปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้หญิงเอเชียต้องเผชิญ อาทิ การถูกเลือกปฏิบัติ การถูกเหยียดหยาม การมีบทบาททับซ้อน ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ และความรุนแรงในครอบครัว

ดร. สเตฟานี พวน ได้นำเสนอแนวคิดการดูแลซึ่งกันและกันด้วยความยุติธรรม โดยเน้นว่าการดูแลบรรดาผู้หญิงนั้น ได้รับการประเมินค่าที่ต่ำเกินไป เธอเน้นว่าเรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของทุกคนและ ควรสอดคล้องกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การสื่อสารที่ทั่วถึง ความไว้วางใจ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ร่วมมือกันสร้างวัฒนธรรมอันดีงามนี้

ดร. แมรี่ หยวน ได้แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว และได้กล่าวถึงปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ผู้หญิงเอเชียต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ดร. แมรี่ ได้กล่าวถึงบทบาทที่พระศาสนจักรสามารถกระทำได้ อาทิ การดูแลอภิบาล การสร้างศูนย์สนับสนุน ศูนย์บรรเทาวิกฤติครอบครัว และการรับรองสิทธิและศักดิ์ศรี ดร.หยวน กล่าวเสริมว่ามีสตรีคาทอลิกที่มีความกระตือรือร้นจำนวนมาก และอยากเรียกร้องให้พระศาสนจักรลำดับความสำคัญเพื่อมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและให้ความรู้ด้านเทวศาสตร์แก่บรรดาสตรีเพิ่มขึ้นด้วย

ซิสเตอร์ปิเอริส ตั้งข้อสังเกตว่า “บรรดาบุรุษที่เปี่ยมด้วยคุณภาพจะไม่รู้สึกถูกคุกคามจากการเรียกร้องความเท่าเทียมของบรรดาสตรี” และยังได้เสนอประเด็นสำคัญ ๆ หลายประการที่ส่งผลให้ผู้หญิงในเอเชียเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การสนับสนุนโครงสร้างทางสังคมที่ปราศจากการแบ่งชนชั้นทางเพศ เทววิทยาที่สะท้อนการต่อสู้ของผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย และภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่ครอบคลุมมากขึ้น ซิสเตอร์ปิเอริส เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้หญิงจะเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ และเป็นศิษย์ของพระคริสต์ในพระศาสนจักรอย่างเท่าเทียมกัน

นางคริสทีน นาธาน ประธานคณะกรรมการผู้อพยพย้ายถิ่นระหว่างประเทศ อธิบายว่าการอพยพย้ายถิ่นเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนนับล้านคนได้อย่างไร ทั้งยังได้กล่าวถึงการต่อสู้ดิ้นรนต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ งานที่ไม่ปลอดภัยแรงงานทาส การเลือกปฏิบัติ และปัญหาแรงงานข้ามชาติ คุณนาธาน ยังได้เตรียมแนวทางที่พระศาสนจักรสามารถให้ความช่วยเหลือได้ เช่น การรณรงค์ส่งเสริมให้มีข้อตกลงที่ดีและเป็นธรรม การใส่ใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้ความสำคัญกับสภาพการทำงานที่ปลอดภัย มีความชัดเจนเกี่ยวกับงานและประเทศเพิ่มขึ้น การสร้างโอกาสในการทำงานที่เหมาะสม ทำให้การอพยพย้ายถิ่นเป็นทางเลือกไม่ใช่ความจำเป็น

ซิสเตอร์แอบบี้ อเวลิโน ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคของทาลิธา คุม แห่งทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยบรรดาสตรีที่มีความเชื่อความศรัทธา ซิสเตอร์อเวลิโน ได้สาธิตวิธีการทำงานในระดับรากหญ้า ทาลิธา คุม ยังได้ร่วมมือดำเนินการปลูกจิตสำนึก ยืนหยัดร่วมกับกลุ่มคนที่เปราะบางทางสังคม ทำงานเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์และเยียวยาบรรเทาทุกข์แก่เหยื่อผู้ได้รับความเสียหาย พร้อมคืนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์

พระคาร์ดินัลวินเซนต์ นิโคลส์ ประธานการประชุมบิชอปคาทอลิกแห่งประเทศอังกฤษและเวลส์ ได้สนทนาผ่านการประชุมทางไกล กล่าวถึงการค้ามนุษย์ว่า นี่คือสงครามแห่งความพ่ายแพ้ แม้จะมีความพยายามมากมายจากบรรดาผู้ต่อต้าน พระคาร์ดินัลได้เรียกร้องให้มีการรวมตัวกันมากขึ้น อุทิศเวลาและความเพียรพยายามในการหยุดการค้ามนุษย์

คุณพ่อเฟบิโอ บาจิโอ จากสมณะกระทรวงการพัฒนาและส่งเสริมความสมบูรณ์ของมนุษย์ ได้อธิบายขอบเขตและวัตถุประสงค์ของสมณกระทรวง รวมถึงการมีส่วนร่วมในภารกิจทางสังคม และการให้ความช่วยเหลือตลอดระยะเวลาการประชุม

อาร์ชบิชอปทาร์สิสสิโอ อิสซุโอะ กิกูชิ อดีตประธานสภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย ได้นำการไตร่ตรองสมณสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ว่าด้วยภราดรภาพและมิตรภาพในสังคม “Fratelli Tutti” (พวกเราต่างเป็นพี่น้องกัน) อาร์ชบิชอปทาร์สิสสิโอ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบริบทของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่สมเด็จพระสันตะปาปา ได้ออกสมณสาส์นเรื่อง “Fratelli Tutti” โดยให้เราได้ไตร่ตรองถึงแง่มุมต่างๆ ของพระศาสนจักร โดยเน้นถึงความสำคัญของการพึ่งพาอาศัยกัน ความเป็นหนึ่งเดียวกันในความหลากหลาย โดยแสดงให้เห็นว่าคริสตชนทุกคนได้รับเรียกให้เป็นพยาน พระองค์ได้ทรงขอให้ผู้ฟังทุกคนร่วมกันคิดว่าจะเผยแพร่ความหวังนี้อย่างไรในโลกปัจจุบัน

การประชุมในช่วงเย็นปิดฉากลงด้วยการสวดภาวนาร่วมกัน ผ่านการเสนอวิงวอนต่อท่านนักบุญจูเลียน แห่งนอร์วิช โดย พระคาร์ดินัลกราเซียส์ เป็นผู้นำการสวดภาวนาเย็น

#FABC#FABC50#fabc50inthailand

Loading...