สหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย Federation of Asian Bishops’ Conference (FABC)

6 October 2022

“กุหลาบป่า” รวบรวมและเรียบเรียง

สหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชียเกิดขึ้นเมื่อ บรรดาบิชอปในเอเชีย 180 องค์ มาประชุมกันที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 23-29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1970 โอกาสนั้นนักบุญพระสันตะปาปาปอลที่ 6 เสด็จเยี่ยม และมาร่วมประชุมกับบรรดาบิชอปด้วย ในการประชุมนี้เองได้จัดโครงสร้างการประชุมของบรรดาบิชอปและได้พัฒนามาเป็นสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย(FABC)โดยมีจุดประสงค์เพื่อ

  • ศึกษาและแสวงหาแนวทางเพื่อส่งเสริมงานแพร่ธรรมตามแนวทางของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 และคำแนะนำจากเอกสารต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องมานั้น ตามความจำเป็นของเอเชีย
  • ทำงานมุ่งเสริมพลังพระศาสนจักรให้กระตือรือร้นที่จะพัฒนาชาวเอเชียในทุกด้าน
  • สนับสนุนการศึกษาปัญหาที่กระทบพระศาสนจักรเอเชียโดยรวม พร้อมทั้งหาวิธีและร่วมมือกันแก้ปัญหาเหล่านั้น
  • ส่งเสริมการสื่อสารและความร่วมมือระหว่างวัดต่าง ๆ และบรรดาบิชอปในเอเชีย
  • เพื่อให้บริการสภาบิชอปในเขตศาสนปกครองต่าง ๆ จะได้สามารถตอบสนองความต้องการของประชากรของพระเจ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • เพื่อพัฒนาองค์กรและกระบวนการต่างๆ ของวัดให้เป็นระบบมากขึ้นในระดับชาติ
  • ส่งเสริมการสื่อสารและความร่วมมือระหว่างศาสนาและนิกายต่าง ๆ

สหพันธ์ฯต้องการที่จะเสริมสร้างพระศาสนจักรท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นพระศาสนจักรของคนท้องถิ่นและวัฒนธรรมท้องถิ่น พระศาสนจักรที่ค่อยๆ เสวนากันด้วยความเอื้ออาทรกับขนบประเพณีที่สืบทอดกันมาในวัฒนธรรมและศาสนาของท้องถิ่นนั้นๆทั้งนี้เพื่อให้บริการแก่บรรดาบิ่ชอปในงานอภิบาลและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ในเอเซีย

สหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชียดำเนินงานตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ คือ การประชุมใหญ่ คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการดำเนินงาน และสำนักเลขาธิการ เพื่อช่วยสำนักเลขาธิการดำเนินงานตามพันธกิจ จึงได้แบ่งเป็นสำนักงานต่างๆ ดังนี้ การพัฒนา(Office of Human Development-OHD) การสื่อสาร (Office of Social Communication -OSC) ฆราวาส (Office of Laity and Family – OL) เทววิทยา (Office of Theology Concerns – OTC  การศึกษา (Office of Education and Faith Formation – OESCศาสนสัมพันธ์ (Office of Ecumenical and Interreligious Affairs – OEIA) การประกาศพระวรสาร (Office of Evangilization – OE) สมณะ (Office of Clergy – OC)  และผู้รับเจิมถวายตน (Office of Consecrated Life -OCL)

สำนักงานต่าง ๆ ของสหพันธ์ฯ ได้ช่วยผลักดันให้พระศาสนจักรในเอเซียดำเนินไป ด้วยการจัดประชุม อบรม สัมมนา ฟื้นฟูจิตใจ โครงการสัมผัสชีวิต ฯลฯ สำหรับพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวชและฆราวาส ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันว่า “Bishops’ Institutes” ซึ่งแต่ละสำนักงานจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ปฎิบัติงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์

การที่จะส่งเสริมพันธกิจการอภิบาลให้มีแนวทางใหม่ๆ (PROMOTION OF INNOVATIVE PASTORAL MINISTRIES)  พระศาสนจักรต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในพันธกิจบางด้านเป็นพิเศษ พร้อมทั้งช่วยเหลือพระศาสนจักรเอเชียอย่างต่อเนื่อง “ให้เป็นเอเชียในทุกด้านจริง ๆ” ด้วยวิธีการ เป็นเอเชีย ในพระศาสนจักรเอเชียเพราะตั้งแต่เริ่มต้น สหพันธ์ฯ สนับสนุนการเข้าสู่วัฒนธรรม เพื่อทำให้พระศาสนจักรเอเชียหยั่งรากในผืนดินเอเชีย นอกนั้นพระศาสนจักรทำให้วิสัยทัศน์และคุณค่าชีวิตแบบเอเชียปรากฏเป็นรูปร่างขึ้นมา พร้อมทั้งผสมผสานกับสภาพความเป็นจริงอื่น ๆ ในเอเชีย เช่นการผสานความแตกต่างในประเพณีและวัฒนธรรมของเอเชียการอยู่ร่วมกันนี้ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกัน

สหพันธ์ฯยังเน้น การแพร่ธรรมแบบเอเชียด้วยการเสวนาและการกระทำอาศัยชีวิตภาวนา บริการและเป็นแบบอย่าง พระศาสนจักรเป็นพยานถึงพระเยซูคริสตเจ้าการเสวนานั้นมุ่งไปที่สามด้าน คือเสวนากับศาสนา วัฒนธรรม และกับคนยากไร้ ซึ่งเป็นวิธีสร้างพระอาณาจักรของพระเจ้าสหพันธ์ฯตระหนักว่า พระอาณาจักรกว้างกว่าพระศาสนจักรพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นศูนย์กลางในการเป็นพระศาสนจักรเอเชีย มุ่งออกไปถึงสภาพของสังคม การเมือง วัฒนธรรมและศาสนาของเอเชีย

ประเด็นสำคัญของการประชุมใหญ่ที่ผ่านมา (ปี 1974 – 2016)

การประชุมใหญ่ของสหพันธ์ฯ ได้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและเป็นช่องทางเพื่อแสวงหาและไตร่ตรองร่วมกัน ที่วางแนวทางเพื่อพระศาสนจักรในเอเชีย แลกเปลี่ยนเรื่องราว แบ่งปันความสำเร็จและข้อท้าทาย ไตร่ตรองการทำงานของพระจิตเจ้าในชีวิตของชาวเอเชีย

“บทบาทของสหพันธ์ฯก็คือ แสวงหาความหมายใหม่ๆ ความพยายามใหม่ๆ พิชิตพลังซึ่งทำลาย ผสมผสานรูปแบบใหม่ อ่านเครื่องหมายแห่งกาลเวลา และไตร่ตรองว่าต้องทำอะไรต่อไป อะไรที่ต้องละทิ้ง อะไรที่ควรปฏิเสธ”   การประชุมใหญ่ครั้งที่ 1 ปี 1974 ไทเป ไต้หวัน

“การประชุมใหญ่เป็นโอกาสเพื่อเจริญชีวิตพระศาสนจักรร่วมกัน กับผู้ที่ทำงานอภิบาลภารกิจต่าง ๆ และจากภูมิภาคที่ต่างกัน” (– เอดมุน เชีย  Edmund Chia)

การประชุมใหญ่ของสหพันธ์ฯ ได้เป็นเวทีที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ที่จะแบ่งปันวิธีการแบบเอเชีย ในการคิด และอธิบายพระวรสารของพระเยซูเจ้าสำหรับชาวเอเชีย ตลอดเวลา ที่ผ่านมามีการประชุมใหญ่ 11 ครั้ง

ปี        สถานที่           หัวข้อ

1974   ไทเป              การประกาศพระวารในเอเชียสมัยปัจจุบัน

1978   กัลกัตตา          การภาวนา ชีวิตของพระศาสนจักรในเอเชีย

1982   กรุงเทพฯ         พระศาสนจักร ชุมชนแห่งความเชื่อในเอเชีย

1986   โตเกียว           กระแสเรียกและพันธกิจของฆราวาสในพระศาสนจักร

1990   บันดุง             ก้าวเดินไปด้วยกันสู่สหัสวรรษที่สาม

1995   มะนิลา           การเป็นศิษย์แบบคริสตชนในเอเชีย การรับใช้ชีวิต

2000   สามพราน        พระศาสนจักรในเอเชียที่ฟื้นตัวทำพันธกิจแห่งความรักและบริการ     

2004   แดจึง             ครอบครัวเอเชีย มุ่งให้ชีวิตเติบโตทุกด้าน

2009   มะนิลา           เจริญชีวิตศีลมหาสนิทในเอเชีย

2012   ชวนลอค          40 ปี สหพันธ์ ตอบสนองประเด็นท้าทายในเอเชีย

2016โคลอมโบ   ครอบคาทอลิกในเอเชีย พระศาสนจักรระดับบ้านของผู้ยากไร้

พันธกิจแห่งเมตตาธรรม

สหพันธ์ฯ ครั้งที่ 5 ที่บันดุง ประเทศอินโดเนเซีย ปี ค.ศ.1990 เรียกร้องให้คำนึงการเป็นพระศาสนจักรที่เป็นหนึ่งเดียวกันของชุมชนย่อย ๆ การมีส่วนร่วมและทำพันธกิจเชิงประกาศกเป็นพยานถึงพระเยซูเจ้า ส่งเสริมศักยภาพของฆราวาสให้มีส่วนร่วมในชีวิตของพระศาสนจักร ในสำนักงานเพื่อฆราวาสจึงขยายงานเป็น งานเยาวชน สตรี และ หน่วยงานสนับสนุนเครื่องมือเพื่อกระบวนการอภิบาลแบบบูรณาการ (AsIPA desk) ช่วยให้เกิดการฟื้นฟูชีวิตคริสตชนอาศัยชุมชนย่อย ๆ (SCCs)

สหพันธ์ฯได้ผลิตเอกสารและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลของการไตร่ตรอง การประชุม ของบรรดาบิชอป นักเทววิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เอกสารเหล่านี้ เป็นหลักฐาน และช่วยให้ผู้อภิบาลมีแหล่งความรู้ แนวทางที่จะนำไปสู่ชุมชนต่อไป เช่น หนังสือรวบรวมการประชุมสัมมนาตั้งแต่ ปี 1970 – 2016 รวม 6 เล่ม (For All the people of Asia) วารสาร OHD,  LAITY, ฯลฯ หนังสือ Fifty Years of Asian Pastoral Guidance  2020 ซึ่งรวบรวมถ้อยแถลงจากการประชุมใหญ่ 11 ครั้ง ที่ผ่านมา นอกนั้นยังมี แผ่นพับ (FABC Papers) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ นำเสนอ เพื่อช่วยในการไตร่ตรองและเป็นคู่มือการประชุม ซึ่งสำนักเลขาธิการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง ศูนย์เอกสารของสหพันธ์ฯ ซึ่งได้มาตั้งสำนักงานอยู่ที่ กรุงเทพฯ และปัจจุบันสำนักเลขาธิการของ FABC ได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน

50 ปีที่ผ่านมา สหพันธ์ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมหลากหลาย เช่นการ ประชุม อบรม สัมมนาเชิงปฏิบัติการ ความฝันของบรรดาบิชอปแห่งเอเชียเกิดผลมากมาย ตามปกติแล้วสหพันธ์จะจัดประชุมใหญ่ทุก ๆ 4 ปี ครั้งสุดท้ายจัดที่โคลอมโบ ประเทศศรีลังกา เมื่อปี ค.ศ. 2016

โอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย(FABC)    

ทางสหพันธ์ฯ วางแผนที่จะจัดชุมนุมพระศาสนจักรเอเซียเพื่อระลึกถึง เฉลิมฉลอง และวางแผน สู่แนวทางใหม่ๆ ในอนาคต จึงสมควรที่จะเฉลิมฉลองประวัติการณ์นี้ ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรก็ตามเช่นการระบาดของโควิด 19 ทำให้เราต้องเลื่อนการชุมนุมจากปี 2020 มาจัดชุมนุมในปี 2022 ซึ่งเปิดเป็นทางการด้วยพิธีบูชาขอบพระคุณเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ณ สักการสถานบุญราศี นิโคลาส บุญเกิด สามพราน และจะมีการชุมนุมที่บ้านผู้หว่าน สามพราน จังหวัดนครปฐม ในวันที่ 12-30 ตุลาคม 2022

ด้วยความสำนึกถึงความเป็นมาและซื่อสัตย์ต่อกระแสเรียกธรรมทูตของพระศาสนจักร เราก้าวเดินต่อไปกับชาวเอเซียขณะที่พยายามทำให้จิตตารมณ์การแพร่ธรรมมีชีวิตชีวาขึ้นใหม่ ตามเส้นทางสู่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า อาศัยการนำทางจากพระวรสารของมัทธิว (มธ 2: 1-12) วัตถุประสงค์ของสหพันธ์ฯครบรอบ 50 ปี ก็เพื่อยืนยัน รื้อฟื้น และทำให้พระศาสนจักรเอเซียมีชีวิตชีวาขึ้นใหม่ เพื่อยืนยันและเฉลิมฉลองการเดินทางที่ผ่านมา 50 ปี ด้วยความตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเอเชียซึ่งท้าทายเราและพระศาสนจักรต้องเผชิญ เรายังแสวงหาพระพักตร์ของพระเยซูเจ้าในเอเชีย ตามรอยวิสัยทัศน์ของพระศาสนจักรเอเชีย ในการบริการชาวเอเซียด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรทั่วโลก ในเวลาเดียวกันก็มองหาแนวทางใหม่ๆในการบริการและเดินเคียงข้างไปกับชาวเอเชีย

เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและประสิทธิผลของสหพันธ์ฯ วันนี้เราต้องการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกันมากกว่าแต่ก่อนเพื่อความดีของส่วนรวม การทำงานแบบจับคู่กัน และแบบสหสาขาวิชาชีพ ร่วมกับองค์กรในทวีปอื่น และขยายสนามงานออกไปจนถึงสถานที่ที่ห่างไกลที่สุดของเอเชีย  ในปัจจุบันนี้ โลกมิได้เป็นเพียง หมู่บ้านโลก แต่ยังเป็น “โลกเสมือนจริง”

การเฉลิมฉลองนี้มีการเตรียมในหลายระดับ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพื่อจะฟื้นฟูพระศาสนจักรเอเซียและสหพันธ์ฯ การประชุมปรึกษาในระดับต่าง ๆ เช่น การชุมนุมสี่ภาค การประชุมสำนักงานต่าง ๆ ในสหพันธ์ การเก็บข้อมูลรับฟังความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป

ขณะที่เราก้าวไปสู่ “ยุคใหม่” เมื่อมองไปข้างหน้า เราฟังพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสที่ขอให้เรา “เตรียมสู่อนาคต” แทนที่จะ “เตรียมรับอนาคต” ดังที่ท่านปรารถนาให้เราก้าวสู่อนาคตด้วงความหวัง ท่ามกลางความวุ่นวายสับสนไม่มีอะไรแน่นอน เราต้องมองไปสู่อนาคตร่วมกันด้วยวิสัยทัศน์ที่โอบอุ้มพระศาสนจักรในเอเชียด้วยความหวังว่าการประชุม 50 ปี สหพันธ์ฯ จะเป็นจุดเริ่มต้นและช่วยเราพระศาสนจักรเอเชียให้คิดถึงความรับผิดชอบของเรา ที่จะวางแนวทางอันเกี่ยวเนื่องกับพันธกิจ พิธีกรรมและการอภิบาลต่อไป

Loading...