FABC50 สัปดาห์ที่ 2 “อุบัติการณ์แห่งความเป็นจริง (Emerging Realities)”
วันจันทร์สัปดาห์ที่สองของการประชุมสหพันธ์สภาบิชอบแห่งเอเชีย วันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 2022 เริ่มต้นด้วยพิธีบูชาขอบพระคุณ โดยพระคาร์ดินัลแพทริก โดซาริโอ จากคณะนักบวชกางเขนศักดิ์สิทธิ์แห่งพระเยซูคริสตเจ้า
ณ หอประชุมเซนต์ไมเกิ้ล ประธานการประชุมฯ ในวันนี้ คือ พระคาร์ดินัลชาร์ลส์ โบ จากนั้นสมาชิกจากประเทศบังคลาเทศได้นำผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านสวดภาวนาเพื่อ FABC ผ่านระบบเสมือนจริง จากนั้นเป็นการปฐมนิเทศโดยพระคาร์ดินัลออสวอล์ด กราเซียส์ ท่านได้อธิบายถึงรูปแบบการประชุมตลอดสัปดาห์นี้ โดยจะมีความสอดคล้องกับเอกสารของสมเด็จพระสันตะปาปา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านได้ร่วมกันสะท้อนความเป็นจริงที่ปรากฎขึ้นมาในทวีปเอเชีย
สมาชิกของหน่วยงานด้านเทวศาสตร์ของการประชุมสหพันธ์สภาบิชอบแห่งเอเชีย บิชอปเจอร์ราล์ด มัทธีอัส และบาทหลวงหงูเหยิน ไฮ ทินห์ คณะเยสุอิต อาจารย์ด้านเทวศาสตร์ด้านความเชื่อ ณ สถาบันคาทอลิกแห่งประเทศเวียดนาม ได้นำเสนอหัวข้อ พระศาสนจักรในยุคหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และพระวรกายของพระเยซูคริสต์ ซึ่งหมายถึงพระศาสนจักร โดยท่านได้กล่าวถึงผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดดังกล่าว และเน้นให้เห็นถึงโอกาสที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์ดังกล่าว บิชอปมัทธีอัส อธิบายว่าพระวรกายของพระเยซูคริสต์ซึ่งก็คือพระศาสนจักร ได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างไร และสามารถรักษาสถานการณ์ไว้ได้อย่างไร คุณพ่อทินห์ อธิบายเพิ่มเติมว่าการแพร่ระบาดใหญ่แสดงให้เห็นว่าพระศาสนจักรได้เผชิญกับความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และการเปลี่ยนแปลง อย่างไร แต่พระศาสนจักรแห่งธรรมลำลึกและการก้าวเดินไปด้วยกัน ช่วยสมานความเจ็บปวดดังกล่าวและรวมเราเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน บิชอปมัทธีอัส ยังได้นำเสนอวิธีการอภิบาลในรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 รวมไปถึง การสนทนา กระบวนการการอบรม การประกาศพระวาจาผ่านช่องทางดิจิทัล การอนุรักษ์ระบบนิเวศ และการฟื้นฟูพิธีกรรมให้มีความเหมาะสมเฉพาะบุคคลมากขึ้น
ต่อมา คุณแอนโทนิโอ เลอ วิน่า ทนายความ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม และคุณริฑิมา ปันเดย์ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศอินเดีย ได้กล่าวถึง ภาวะวิกฤตของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทวีปเอเชีย คุณแอนโทนิโอ ได้ให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งแก้ไขวิกฤตที่กำลังส่งผลกระทบอันเลวร้ายนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ เรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีบทบาท เอาใจใส่ดูแลอย่างจริงจังด้วยภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง ทั้งยังได้เสนอขั้นตอนการดำเนินการสำหรับพระศาสนจักร ตั้งแต่แผนระดับโลกไปจนถึงแผนระดับท้องถิ่น โดยเสนอให้ใช้เป็นกรอบในการทำงานร่วมกัน
คุณริฑิมา ปันเดย์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ทางนิเวศวิทยาในรัฐบ้านเกิดของเธอที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง โดยเธอได้พยายามรณรงค์เพื่อเด็กๆ ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยได้เน้นย้ำถึงความจำในการเปลี่ยนพฤติกรรมและแพร่ขยายความพยายามนี้ไปสู่วงกว้าง ในปัจจุบัน มีเด็ก ๆ จำนวนหนึ่งออกไปทำงานตามท้องถนนเนื่องจากคนรุ่นเก่า ๆ ไม่คิดที่จะลงมือปฏิบัติ เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทุก ๆ องศา มีความหมายอย่างยิ่ง พวกเราต้องการความช่วยเหลือจากพวกคุณทุกคน คุณ ปันเดย์ ยังได้แนะนำภาพยนตร์เรื่อง ‘The Letter’ ซึ่งเป็นสารจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสถึงชาวโลก กล่าวถึงความร่วมมือของเยาวชนกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะฉายให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับชมพร้อมกันในเย็นวันนี้
บิชอปเอลล์วิน เดอ สิลวา อดีตหัวหน้านักข่าวด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ได้กล่าวบรรยายในหัวข้อ “เลาดาโต ซี : การเรียกร้องให้ดูแลธรรมชาติด้วยจิตสำนึก” เชิญชวนให้ทุกคนร่วมสวดภาวนาและขับร้องบทเพลงแห่งการสรรค์สร้าง บิชอป เดอ สิลวา ได้นำผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านไตร่ตรองถึงสถานการณ์ปัจจุบัน โดยอธิบายว่าโลกใบนี้เป็นบ้านสำหรับทุกคนอย่างไร จากบทอ่านในหนังสือปฐมกาลเตือนเราให้ตระหนักอยู่เสมอว่าเรามีหน้าที่ในการที่จะปกป้องโลกใบนี้ บิชอป เดอ สิลวา ได้ย้ำคำกล่าวของ คุณปันเดย์ โดยได้ตั้งคำถามว่า “โลกในลักษณะใดที่เราจะส่งต่อให้แก่คนรุ่นหลัง?” นอกจากนี้ยังได้แสดงให้เห็นว่าสมณสาส์นเลาดาโตซี มีความเชื่อมโยงกับคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรอย่างไร และกล่าวเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านได้นึกถึงภาพของทวีปเอเชียที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวคริสต์ ส่งเสริมสิทธิของคนยากจน พร้อมด้วยการรักษาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นและความงดงามตามธรรมชาติ
พระคาร์ดินัล ลัซซาโร ยู ฮึงซิก สมณะกระทรวงเพื่อนักบวช ได้นำเสนอ “มุมมองภาพสะท้อนของการอบรมพระสงฆ์ในสังคมสมัยใหม่ ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง” โดยตั้งคำถามว่า “โบสถ์ลักษณะไหน นักบวชแบบใด การอบรมในรูปแบบใด” ซึ่งถือเป็นความจำเป็นในสภาวะปัจจุบัน พระคาร์ดินัล ยู ได้อธิบายอีกว่าคำตอบมีอยู่ในหนังสือเพียงเล่มเดียว นั่นคือ พระคัมภีร์ โดยมีกฎเพียงข้อเดียวเช่นกัน นั่นคือ จงรักซึ่งกันและกัน และมีนายเพียงคนเดียวคือองค์พระผู้เป็นเจ้า ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง พระคาร์ดินัล ยู เสริมว่าพระศาสนจักรจำเป็นต้องร่วมก้าวเดินไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือโรงเรียน ต่างมีส่วนร่วมทั้งสิ้น สำหรับพระสงฆ์ ต้องเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริตเจ้า ได้รับเรียกเพื่อการรับใช้อย่างแท้จริง ทำงานร่วมกันเป็นครอบครัว ภาพเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นทั้งที่บ้านและในบ้านเณร ในบทสรุป พระคาร์ดินัล ได้กล่าวถึงความสำคัญของพระวาจา ซึ่งต้องเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
ในช่วงท้ายของวัน ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านร่วมกันอภิปรายในกลุ่มย่อย และร่วมกันไตร่ตรองคุณค่าและคำสอนที่สามารถนำไปใช้เพื่อให้พระศาสนจักรก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง ก่อนจะมีการสวดภาวนาช่วงเย็น โดย พระคาร์ดินัลชาร์ลส์ โบ