1. พระศาสนจักรของพระเจ้าเรียกร้องให้มีการประชุมซีนอด หนทางนี้ชื่อว่า “เพื่อการก้าวเดินไปด้วยกันของพระศาสนจักร: ความเป็นเอกภาพ การมีส่วนร่วม และพันธกิจ” ซึ่งจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 9-10 ตุลาคม ค.ศ. 2021 ที่กรุงโรมและต่อมาในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 2021 ในพระศาสนจักรท้องถิ่นแต่ละแห่ง นี่เป็นขั้นตอนพื้นฐานประการหนึ่งเพื่อนำไปสู่การเฉลิมฉลองการประชุมซีนอดของบรรดาบิชอปสมัยสามัญ ครั้งที่ 16 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 [1] ซึ่งจะตามมาด้วยขั้นตอนของการปฏิบัติที่รวมถึงพระศาสนจักรต่างๆ (เทียบ EC มาตรา 19-21) ในการประชุมนี้พระสันตะปาปาฟานซิสทรงเรียกร้องให้พระศาสนจักรท้องถิ่นทั่วโลกไตร่ตรองในหัวข้อที่ให้ไว้เพื่อตัดสินใจสำหรับชีวิตและพันธกิจของตน “ด้วยหนทางเช่นนี้สำหรับการก้าวเดินไปด้วยกันดังที่พระเจ้าทรงคาดหวังจากพระศาสนจักรในสหัสวรรษที่สาม” [2]

การเดินทางนี้ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในขณะที่มี “การฟื้นฟู” พระศาสนจักรซึ่งได้รับการเสนอโดยสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 อันเป็นทั้งของขวัญและหน้าที่ กล่าวคือ โดยการก้าวเดินไปด้วยกัน ไตร่ตรองร่วมกันในการเดินทางที่พวกเรากระทำร่วมกันนั้นพระศาสนจักรจะสามารถเรียนรู้โดยอาศัยประสบการณ์ที่ว่ากระบวนการใด ๆ ที่สามารถช่วยตนให้ดำเนินชีวิตในความเป็นเอกภาพ ในการที่จะบรรลุถึงการมีส่วนร่วมกัน และเพื่อที่จะเปิดประตูสู่การกระทำพันธกิจ ความจริงแล้ว “การก้าวเดินไปด้วยกัน” ของพวกเราจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดและเป็นการแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของพระศาสนจักรในฐานะที่เป็นผู้เดินทาง และเป็นประชากรที่เป็นธรรมทูตของพระเจ้า

การเรียกร้องให้ก้าวเดินไปด้วยกัน

การเดินทางที่ก้าวเดินไปด้วยกันภายใต้บริบทแห่งประวัติศาสตร์ที่ดำเนินไปตามการเปลี่ยนแปลง

พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันอย่างสร้างสรรค์

สิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงขอร้องจากพวกเราในความหมายแบบเฉพาะก็ปรากฏอยู่แล้วในคำว่า “ก้าวเดินไปด้วยกัน”

2. คำถามพื้นฐานที่ทำให้พวกเราพร้อมและนำทางพวกเราก็คือ “การก้าวเดินไปด้วยกัน” ที่เกิดขึ้นในวันนี้ในระดับที่แตกต่างกัน (จากระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับสากล) จะทำให้พระศาสนจักรประกาศพระวรสารตามพันธกิจที่ตนได้รับมอบอย่างไร และมีขั้นตอนเช่นไรที่พระจิตทรงเชื้อเชิญให้พวกเราเดินทางเพื่อที่จะเจริญเติบโตขึ้นเป็นพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน?

การก้าวเดินไปด้วยกันนี้เรียกร้องให้ต้องมีการฟังพระจิตผู้ทรงเป็นดุจกระแสลมที่ “ย่อมพัดไปตามทิศทางที่ที่ลมต้องการ ท่านได้ยินเสียงลมพัด แต่ไม่รู้ว่าลมพัดมาจากไหนและจะพัดไปไหน” (ยน 3: 8) จึงต้องเปิดใจกว้างสำหรับสิ่งมหัศจรรย์ที่พระจิตทรงเตรียมไว้สำหรับพวกเรา ดังนั้นพลวัตจะถูกทำให้เกิดขึ้นขอให้เริ่มเก็บเกี่ยวผลใด ๆ บางอย่างของการกลับใจที่จะก้าวเดินไปด้วยกันซึ่งจะค่อย ๆ บรรลุวุฒิภาวะขึ้นเรื่อยๆ นี่คือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่สำหรับคุณภาพชีวิตของพระศาสนจักร และเพื่อที่จะทำให้พันธกิจของการประกาศพระวรสารสำเร็จไป ซึ่งพวกเราทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมโดยอาศัยศีลล้างบาปและศีลกำลัง ณ ตรงนี้พวกเราจะชี้ให้เห็นเป้าหมายหลักซึ่งการก้าวเดินไปด้วยกันเป็นลักษณะ รูปแบบ และโครงสร้างของพระศาสนจักร

• เป็นการชี้ให้เห็นว่าพระจิตทรงชี้นำการเดินทางของพระศาสนจักรโดยอาศัยประวัติศาสตร์ และทุกวันนี้ทรงเรียกร้องให้พวกเราก้าวเดินไปด้วยกันในการเป็นประจักษ์พยานต่อความรักของพระเจ้าอย่างไร

• ดำเนินชีวิตด้วยการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังกับกระบวนการของพระศาสนจักรที่มอบทุกสิ่งให้กับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่อยู่ชายขอบสังคมด้วยเหตุผลต่างๆ นี่เป็นโอกาสที่จะแสดงว่าต้องการให้ผู้คนฟังพวกเขาเพื่อที่พวกเขาจะได้มีส่วนช่วยจรรโลงประชากรของพระเจ้า

• รับรู้และชื่นชมความมั่งคั่งสมบูรณ์ในของขวัญและพระพรต่างๆ ที่พระจิตทรงประทานให้อย่างอิสระเสรีเพื่อความดีงามของชุมชนและเพื่อคุณประโยชน์ของครอบครัวมนุษย์ทั้งปวง

• แสวงหาหนทางการมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบในการประกาศพระวรสาร และในความพยายามที่จะสร้างโลกที่มีความสวยงามและที่น่าอยู่มากกว่า

• สำรวจความรับผิดชอบและอำนาจว่ามีการดำเนินกันอย่างไรในพระศาสนจักร รวมถึงโครงสร้างที่มีการบริหารจัดการโดยการนำเอาความสว่างและพยายามเปลี่ยนแปลงความลำเอียง และการปฏิบัติที่มิชอบที่มิได้มีรากเหง้าอยู่ในพระวรสาร

• ให้เกียรติกับชุมชนคริสตชนในฐานะที่เป็นชุมชนที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นหุ้นส่วนที่ไว้วางใจได้ในหนทางแห่งการเสวนาทางสังคม การเยียวยา การคืนดีกัน การผนึกเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน การมีส่วนร่วม การสร้างประชาธิปไตย การส่งเสริมภราดรภาพและมิตรภาพในสังคม

• สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของชุมชนคริสตชนรวมถึงระหว่างชุมชนกับกลุ่มสังคมอื่น เช่น ชุมชนผู้มีความเชื่อคริสต์ในนิกายต่าง ๆ และในศาสนาอื่น ๆ องค์กรเอกชน กระบวนการขับเคลื่อนประชานิยม ฯลฯ

• ส่งเสริมความชื่นชมและนำเอาผลและประสบการณ์แห่งซีนอดมาใช้ในระดับสากล ระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น

3.เอกสารในการเตรียมซีนอดฉบับนี้
เพื่อรับใช้การเดินทางที่เป็นการก้าวเดินไปด้วยกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกให้กับขั้นตอนแรก

ของการฟังและการปรึกษาหารือกับประชากรของพระเจ้าในภาคส่วนต่าง ๆ ของพระศาสนจักร (ตุลาคม ค.ศ. 2021- เมษายน ค.ศ. 2022) โดยหวังที่จะช่วยให้มีการขับเคลื่อนทั้งความคิด พลัง และความคิดสร้างสรรค์สำหรับทุกคนที่จะมีส่วนในการเดินทางและจะทำให้สิ่งต่าง ๆ ง่ายขึ้นด้วยการมีส่วนร่วมในผลแห่งความพยายามของพวกเขา ด้วยเป้าหมายดังนี้

1) เพื่อเริ่มต้นด้วยการกำหนดลักษณะที่สำคัญบางประการของบริบทชั่วคราว

2) เพื่อจะแสดงโดยสังเขปถึงการอ้างอิงเทววิทยาที่เป็นพื้นฐานสำหรับความเข้าใจ และการปฏิบัติของการก้าวเดินไปด้วยกันที่ถูกต้อง

3) เพื่อมอบความคิดทางพระคัมภีร์บางหัวข้อที่สามารถหล่อเลี้ยงการรำพึงและการอธิษฐานภาวนาตลอดระยะเวลาของการเดินทาง

4) เพื่อแสดงให้เห็นถึงบางมิติซึ่งเป็นการทบทวนประสบการณ์ของการดำเนินชีวิตในการก้าวเดินไปด้วยกัน

5) เพื่อแสดงให้เห็นถึงการกำหนดเส้นทางบางประการของการทบทวนการทำงานด้วยการสวดภาวนาและการแบ่งปัน เพื่อติดตามองค์กรเกี่ยวกับวิธีในการทำงาน จะมีคู่มือยุทธวิธีซึ่งเป็นภาคผนวกของเอกสารฉบับนี้ ซึ่งสามารถที่จะพบได้ในเว็บไซต์ [3] ในเว็บไซต์จะนำเสนอหลายประเด็นซึ่งจะทำให้พวกเราเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับหัวข้อของการก้าวเดินไปด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้กับเอกสารสำหรับเตรียมซีนอดนี้ ในบรรดาเอกสารดังกล่าวสำนักเลขาธิการซีนอดขอนำเสนอเอกสารสองฉบับที่มีการพูดถึงหลายครั้ง กล่าวคือ คำปราศรัยโอกาสรำลึกถึงครบ 50 ปีของการสถาปนาสถาบันซีนอดของบรรดาบิชอป โดยพระสันตะปาปาฟรานซิสเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 2015 และเอกสาร การก้าวเดินไปด้วยกันในชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักรที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการเทววิทยานานาชาติและได้มีการพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2018

I. การเรียกร้องให้ก้าวเดินไปด้วยกัน

4. การเดินทางที่ก้าวเดินไปด้วยกันภายใต้บริบทแห่งประวัติศาสตร์ที่ดำเนินไปตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยในสังคมและจากการเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของพระศาสนจักรซึ่งพวกเราจะมองข้ามไปไม่ได้ ที่อยู่ภายใต้เรื่องของความสลับซับซ้อนแห่งบริบท ในความตึงเครียด และในความขัดแย้ง ซึ่งพวกเราถูกเรียกร้องให้ต้อง “พิจารณาทบทวนเครื่องหมายของกาลเวลาและต้องตีความในแสงสว่างแห่งพระวรสาร” (GS ข้อ 4) บางปัจจัยของเหตุการณ์ในโลกมีความเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับเนื้อหาของการก้าวเดินไปด้วยกันดังที่ระบุไว้ ทว่าภาพลักษณ์ต่าง ๆ จำเป็นต้องทำให้มั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นและสำเร็จบริบูรณ์ในระดับท้องถิ่น

5. โศกนาฏกรรมของโลก เช่นโรคระบาดโควิด-19 “ทำให้พวกเรามีจิตสำนึกทันทีว่าพวกเราเป็นชุมชนโลก ทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกันซึ่งปัญหาของคนหนึ่งก็เป็นปัญหาของทุกคน พวกเรารู้สึกรับรู้อย่างดีอีกครั้งหนึ่งว่าไม่มีผู้ใดสามารถเอาตัวรอดได้เพียงลำพังคนเดียว พวกเราจะรอดก็ต้องรอดด้วยกัน” (FT ข้อ 32) ในขณะเดียวกันการแพร่กระจายโรคระบาดยังทำให้ความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่แล้วขยายกว้างยิ่งขึ้นไปอีก ชุมชนมนุษย์ของพวกเราดูเหมือนยิ่งทียิ่งจะแตกแยกจากกัน โศกนาฏกรรมของการอพยพผู้คนในทุกภูมิภาคของโลกแสดงให้เห็นว่ายังมีอุปสรรคอย่างมากที่เดียวที่ทำให้ครอบครัวมนุษย์ต้องแตกแยกกัน พระสมณสาส์นเวียน “ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า(Laudato Si’)” และ “พวกเราต่างเป็นพี่น้องกัน (Fratelli Tutti)” สอนพวกเราว่าความหนักหน่วงในความผิดเกิดขึ้นกับมนุษย์ทั่วโลก ซึ่งพวกเราสามารถที่จะไตร่ตรองถึงการวิจัยเหล่านี้แล้วจำต้องฟังเสียงร้องของคนยากจนและของโลก พร้อมกับยอมรับเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังแห่งอนาคตที่พระจิตยังคงหว่านลงในยุคสมัยของพวกเรา “พระผู้สร้างจะไม่ทรงทอดทิ้งพวกเรา พระองค์ไม่ทรงทิ้งแผนการของพระองค์หรือทรงเสียพระทัยที่ทรงสร้างพวกเราขึ้นมา มนุษย์ยังมีความสามารถที่จะทำงานร่วมกันในการสร้างบ้านส่วนรวมของพวกเรา” (LS ข้อ 13)

6. สถานการณ์เช่นนี้ แม้ว่าจะมีความแตกต่างมากมายก็ยังคงต้องผนึกครอบครัวมนุษย์ทั้งปวงให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งท้าทายความสามารถของพระศาสนจักรให้ต้องติดตามปัจเจกบุคคลและชุมชนให้ทบทวนถึงประสบการณ์ของความทุกข์ความเสียใจที่ถอดหน้ากากแห่งความจริงที่เป็นเท็จหรือแบบปลอม ๆ พร้อมกับต้องสร้างความหวังและความเชื่อในพระทัยดีเมตตาของพระผู้สร้างและสิ่งสร้างของพระองค์ อย่างไรก็ตาม พวกเราไม่สามารถที่จะหนีความจริงว่าพระศาสนจักรเองก็เผชิญกับการขาดความเชื่อและเกิดการคอรัปชั่นแม้กระทั่งภายในพระศาสนจักรเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเราไม่อาจที่จะลืมความทุกข์ที่ผู้เยาว์และผู้ที่อ่อนแอที่พวกเขาได้รับ “เพราะการล่วงละเมิดทางเพศ การใช้อำนาจและมโนธรรมในทางที่ผิด ซึ่งกระทำโดยสมณะและผู้ที่ถวายตัวแล้วจำนวนไม่น้อย” [4] พวกเราได้รับการท้าทายเสมอ “ในฐานะที่เป็นประชากรของพระเจ้าที่จะต้องแบกความเจ็บปวดของบรรดาพี่น้องชายหญิงที่ได้รับบาดแผลทั้งกายและใจ” [5] เป็นระยะเวลานานเกินไปแล้วที่เสียงร้องของผู้ที่ตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายกลับกลายเป็นเสียงร้องที่พระศาสนจักรไม่สามารถได้ยินได้ฟังอย่างเพียงพอ นี่คือบาดแผลที่ลึกมากซึ่งยากที่จะเยียวยา การให้อภัยอย่างเดียวจะไม่มีการเพียงพอ เพราะบาดแผลนั้นกลับกลายเป็นอุปสรรค และบางครั้งก็เป็นการบังคับมิให้มีการเดินไปในทิศทางของ “การก้าวเดินไปด้วยกัน” พระศาสนจักรทั้งมวลถูกเรียกร้องให้ต้องจัดการกับความหนักหน่วงแห่งวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกในลัทธิบรรพชิตนิยม (Clericalism) ที่พระศาสนจักรได้รับมรดกมาจากประวัติศาสตร์และจากรูปแบบของการใช้อำนาจในทางที่ผิดในหลากหลายรูปแบบ (อำนาจ เศรษฐกิจ มโนธรรม เพศ) ที่ได้ฝังตัวอยู่ในพระศาสนจักร เป็นไปไม่ได้ที่จะใฝ่ฝันหรือวาดภาพไปถึง “การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของพวกเราในฐานะพระศาสนจักรที่ไม่รวมเอาการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งแห่งสมาชิกทุกคนที่เป็นประชากรของพระเจ้า” [6] ขอให้พวกเราพร้อมใจกันวิงวอนพระเยซูคริสต์สำหรับ “พระหรรษทานแห่งการกลับใจและการเจิมภายใน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะแสดงตนออกมาท่ามกลางอาชญากรรมแห่งการล่วงละเมิดพร้อมด้วยความกล้าหาญที่จะขจัดภัยพิบัติให้หมดสิ้นไป” [7]

7. แม้ว่าพวกเราจะขาดความซื่อสัตย์ในชีวิต พระจิตก็ยังคงปฏิบัติการในประวัติศาสตร์และทรงแสดงอำนาจแห่งการให้ชีวิตของพระองค์ เป็นเพราะความทุกข์ทุกประเภทที่ครอบครัวมนุษย์เผชิญและเสมือนตกอยู่ในหลุมพลางนั้น และมีเพียงแค่การแก้ปัญหาโดยการตีความหมายของเหตุการณ์ต่าง ๆ จากมุมมองทางด้านเทววิทยาเท่านั้น ขณะที่มนุษย์ยังพบว่าในการถูกทดลองเหล่านั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาพบกับหนทางในรูปแบบชีวิตของคริสตชนและชีวิตของพระศาสนจักรด้วย นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเรามีความหวังที่พระศาสนจักรหลายแห่งเริ่มที่จะมีการประชุมโดยมีโครงสร้างและมีกระบวนการปรึกษาหารือกับประชากรของพระเจ้า ซึ่งมีความชัดเจนอยู่ที่รูปแบบแห่งการก้าวเดินไปด้วยกัน เจตสิกของพระศาสนจักรเริ่มฟื้นฟูขึ้นและการมีส่วนร่วมของทุกคนได้เป็นแรงกระตุ้นใหม่ต่อชีวิตของพระศาสนจักร ความปรารถนาของคนหนุ่มสาวที่จะเป็นผู้นำในพระศาสนจักร และการขอร้องของบรรดาสตรีที่ขอพื้นที่เพื่อที่จะมีส่วนร่วมในพันธกิจของพระศาสนจักรได้รับการต้อนรับจากที่ประชุมซีนอดแล้วในปี ค.ศ. 2018 และ ค.ศ. 2019 การเกิดสถาบันฆราวาสใหม่ในพันธกิจของครูคำสอนและการเปิดประตูให้กับผู้อ่านและผู้ถือเทียนที่เป็นสุภาพสตรีก็เป็นอีกก้าวหนึ่งในการขับเคลื่อนสู่ทิศทางนี้

8. พวกเราไม่อาจที่จะมองข้ามสภาพต่างๆ ที่ชุมชนคริสตชนดำเนินชีวิตในภูมิภาคต่างๆของโลกที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคริสตชนและเป็นจุดอ้างอิงเชิงวัฒนธรรมของสังคม แต่ก็มีอีกมากมายหลายประเทศที่ชาวคาทอลิกเป็นชนส่วนน้อยพร้อมด้วยชาวโปรเตสแตนต์ ที่ยังคงถูกเบียดเบียนทางศาสนาซึ่งบางแห่งมีการใช้ความรุนแรงถึงขั้นการเป็นมรณะสักขีก็ยังมีให้เห็น ในมุมมองหนึ่งจากเจตนารมณ์แห่งโลกีย์วิสัยยังมีแนวโน้มที่จะขับไล่ศาสนาให้พ้นไปจากสังคม และในอีกมุมมองหนึ่งลัทธิคลั่งไคล้แบบสุดโต่งทางศาสนาซึ่งขาดการให้ความเคารพต่อเสรีภาพของผู้อื่นยังคงยึดติดกับการไม่รู้จักอดทนอดกลั้น และนิยมการใช้ความรุนแรงยังคงสะท้อนให้เห็นอยู่แม้ในชุมชนคริสตชน และในความสัมพันธ์กับสังคม บ่อยครั้งคริสตชนจะมีทัศนคติแบบเดียวกัน กระทั่งสร้างความแตกแยกและการขัดแย้งต่อสู้ ซึ่งรวมถึงภายในพระศาสนจักรด้วย จึงจำเป็นที่ต้องพิจารณากันถึงความสั่นคลอนภายในพระศาสนจักรและในความสัมพันธ์กับสังคม ต้องคำนึงถึงความเหลวแหลกที่เกิดจากกลุ่มชนเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ชนชั้นวรรณะ หรือรูปแบบอื่นของการแบ่งสังคม วัฒนธรรม และการใช้ความรุนแรงที่เป็นโครงสร้างซึ่งมีการระบาดอยู่ทั่วไป สถานการณ์เหล่านี้มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความหมายแห่งการแสดงออกถึง “การก้าวเดินไปด้วยกัน” และต่อความเป็นไปได้ที่เป็นรูปธรรมที่จะกระทำเช่นนั้น

9. ภายในบริบทนี้การก้าวเดินไปด้วยกันเป็นเสมือนทางหลวงสำหรับพระศาสนจักรซึ่งถูกเรียกร้องให้ฟื้นฟูตนเองภายใต้การผลักดันของพระจิตและโดยการฟังพระวาจา ความสามารถที่จะจินตนาการถึงอนาคตที่แตกต่างสำหรับพระศาสนจักรและสถาบันของตนเองในการดำรงไว้ซึ่งพันธกิจที่ตนได้รับมา ส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่จะเริ่มกระบวนการฟัง การเสวนา และการไตร่ตรองของชุมชนซึ่งแต่ละปัจเจกบุคคลสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมและเสนอความคิดเห็นของตน ในขณะเดียวกันการตัดสินใจที่จะ “ก้าวเดินไปด้วยกัน” เป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับครอบครัวมนุษย์ที่ต้องการโครงการที่ตนมีส่วนร่วม ซึ่งสามารถที่จะคล้อยตามไปกับการมีน้ำใจดีของทุกคน ต้องเป็นพระศาสนจักรที่สามารถมีความเป็นเอกภาพและมีภราดรภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมและในความเอื้ออาทรด้วยความซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตนเองประกาศสอน ต้องสามารถที่จะยืนอยู่เคียงข้างกับคนยากจน คนที่ต่ำต้อย และฟังเสียงของพวกเขา เพื่อที่จะ “ก้าวเดินไปด้วยกัน” พวกเราจำเป็นต้องยินยอมให้ตัวพวกเราเองได้รับการชี้นำจากพระจิตเพื่อที่พวกเราจะได้มีเจตนารมณ์แห่งการก้าวเดินไปด้วยกันโดยเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยใจกล้าหาญและเป็นอิสระในกระบวนการสนทนาอันเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้สำหรับ “การปฏิรูปอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งพระศาสนจักรมีความจำเป็นเสมอตราบเท่าที่พระศาสนจักรเป็นสถาบันมนุษย์” (UR ข้อ 6; EG ข้อ 26)

II. พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันอย่างสร้างสรรค์

10. เนื่องจากหนทางแห่งการก้าวเดินไปด้วยกันนี้พระเจ้าทรงคาดหวังจากพระศาสนจักรในสหัสวรรษที่สาม สิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงขอร้องจากพวกเราในความหมายแบบเฉพาะก็ปรากฏอยู่แล้วในคำว่า “ก้าวเดินไปด้วยกัน” [8] ซึ่งเป็น “คำโบราณและน่าชวนศรัทธาในธรรมประเพณีของพระศาสนจักร ซึ่งความหมายแท้จริงนั้นเผยให้เห็นถึงถ้อยคำอันล้ำลึกในหนังสือวิวรณ์” [9] เป็น “พระเยซูคริสต์เองที่เผยแสดงว่าพระองค์ทรงเป็น ‘หนทาง ความจริง และชีวิต’ (ยน 14: 6)” และ “คริสตชนผู้ติดตามพระองค์ตั้งแต่เริ่มแรกถูกเรียกร้องให้ ‘ติดตามผู้ที่เป็นหนทาง’ (เทียบ กจ 9:2; 19: 9-23; 22:4; 24: 14-22)” [10] การก้าวเดินไปด้วยกันในมุมมองนี้มีความสำคัญกว่าการเฉลิมฉลองการประชุมของพระศาสนจักรและการชุมนุมของบรรดาบิชอป หรือเรื่องการบริหารภายในพระศาสนจักร อันเป็น “modus vivendi et operandi กล่าวคือวิธีการดำเนินชีวิตและการทำงานพิเศษของพระศาสนจักรพร้อมกับประชากรของพระเจ้า ซึ่งเผยให้เห็นและให้ความหมายในความเป็นเอกภาพเมื่อสมาชิกทุกคนเดินทางไปด้วยกัน รวมตัวกันเป็นชุมชนและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในพันธกิจแห่งการประกาศพระวรสาร” [11] จึงเป็นการผูกติดกับแกนนำของพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันจนมีการเสนอหัวข้อของการประชุมสมัชชาซีนอดว่า “ความเป็นเอกภาพ การมีส่วนร่วม และพันธกิจ” ในบทนี้เราจะแสดงให้เห็นอย่างสังเขปการอ้างอิงทางเทววิทยาที่เป็นพื้นฐานบางประการซึ่งเป็นหลักการสำคัญในมุมมองนี้

11. ในสหัสวรรษที่หนึ่ง “การก้าวเดินไปด้วยกัน” – คือการปฏิบัติของการก้าวเดินไปด้วยกัน – เป็นหนทางปกติที่พระศาสนจักรที่เข้าใจว่าเป็น “ประชากรที่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระบิดา พระบุตรและพระจิต” [12] กระทำการสำหรับผู้ที่สร้างความแตกแยกในร่างกายของพระศาสนจักร ปิตาจารย์ของพระศาสนจักรต่างพากันต่อต้านพวกที่ทำให้ความเป็นเอกภาพของพระศาสนจักรที่แตกกระจายไปทั่วโลก ซึ่งเป็นการอธิบายของนักบุญออกัสตินว่าเป็น “concordissima fidei conspiratio [13] กล่าวคือ เป็นการยินยอมตกลงในความเชื่อของทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาป นี่คือรากเหง้าแห่งการพัฒนาอย่างกว้างๆ ในแก่นแท้ของการก้าวเดินไปด้วยกันในทุกระดับแห่งชีวิตของพระศาสนจักร – ทั้งส่วนท้องถิ่น ภูมิภาค และสากล – ซึ่งจะบรรลุถึงยอดสูงสุดในสภาสังคายนา ภายในขอบฟ้าแห่งพระศาสนจักรที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหลักการแห่งการมีส่วนร่วมของทุกคนในชีวิตของพระศาสนจักร นักบุญยอห์น คริสโซสโตมสามารถที่จะกล่าวว่า “พระศาสนจักรและการก้าวเดินไปด้วยกันเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน” [14] แม้ในสหัสวรรษที่สองเมื่อพระศาสนจักรมีการย้ำอย่างหนักหน่วงถึงหน้าที่ของฐานันดรแห่งสมณะ วิธีการดำเนินการดังกล่าวก็มิได้หยุดยั้ง หากจะให้เป็นไปตามครรลองแห่งการเฉลิมฉลองสภาสังคายนา ซีนอดในระดับพระศาสนจักรท้องถิ่นหรือแต่ละเขตศาสนปกครอง และระดับภูมิภาคต้องมีการพิสูจน์เมื่อเกี่ยวกับการกำหนดความจริงและที่เกี่ยวกับความเชื่อ พระสันตะปาปาทรงมีพระประสงค์ที่จะปรึกษากับบรรดาบิชอปเพื่อที่จะทราบเกี่ยวกับความเชื่อของพระศาสนจักรทุกภาคส่วนโดยมีการขอร้องถึงอำนาจของจิตสำนึกในความเชื่อ (sensus fidei) แห่งประชากรทั้งปวงของพระเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ไม่รู้จักผิดพลาดในสิ่งที่เชื่อ ‘in credendo’” (EG ข้อ 119)

12. สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ทอดสมออยู่ในพลวัตแห่งธรรมประเพณี มีการเน้นว่า “พระเจ้ามิได้สร้างมนุษย์ให้เป็นคนศักดิ์สิทธิ์และช่วยให้เขารอดเพียงแค่ในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลโดยปราศจากความสัมพันธ์และการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ตรงกันข้ามเป็นพระประสงค์ของพระองค์ที่ทรงนำมนุษย์ให้มารวมกันเป็นประชากรหนึ่งเดียวกันที่ยอมรับพระองค์ในความจริง และรับใช้พระองค์ในความศักดิ์สิทธิ์” (LG ข้อ 9) สมาชิกแห่งประชากรของพระเจ้าเป็นเอกภาพในศีลล้างบาป และ “เป็นพระประสงค์ของพระเยซูคริสต์ ที่บางคนเป็นอาจารย์ เป็นผู้เลี้ยงฝูงแกะ ผู้นำพระศาสนจักร เป็นผู้เผยพระธรรมล้ำลึกเพื่อผู้อื่น ทว่าทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมในความเท่าเทียมกันที่แท้จริงเกี่ยวกับศักดิ์ศรีและกิจกรรมที่เป็นสิ่งสามัญสำหรับสัตบุรุษทุกคนเพื่อสร้างพระวรกายของพระเยซูคริสต์” (LG ข้อ 32) ดังนั้นผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปทุกคนจึงเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในสมณะภาพ ประกาศก และกษัตริย์ของพระเยซูคริสต์ด้วยการ “ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามความมั่งคั่งสมบูรณ์แห่งพรสวรรค์ของขวัญอันประเสริฐ เป็นกระแสเรียก และพันธกิจของพวกเขา” [15] พวกเขาต้องขยันขันแข็งในการประกาศพระวรสารทั้งในฐานะส่วนบุคคลและในฐานะที่เป็นประชากรของพระเจ้า

13. สภาสังคายนาเน้นว่าโดยอาศัยการเจิมของพระจิตที่พวกเราได้รับในศีลล้างบาปสัตบุรุษทั้งปวง “ไม่สามารถหลงผิดในเรื่องของความเชื่อ พวกเขาแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติพิเศษประการนี้โดยการไตร่ตรองเหนือธรรมชาติของความเชื่อ ขณะที่ ‘บิชอปตลอดจนถึงฆราวาสคนสุดท้าย’ เห็นพ้องต้องกันในระดับสากลในเรื่องของความเชื่อและศีลธรรม” (LG ข้อ 12) เป็นพระจิตที่ทรงชี้นำประชาสัตบุรุษ “ในความจริงทุกประการ” (ยน 16: 13) โดยอาศัยการกระทำของพระจิต “ธรรมประเพณีนี้สืบทอดมาจากอัครธรรมทูตได้มีการพัฒนาขึ้นในพระศาสนจักร” เพื่อที่ประชากรของพระเจ้าจะได้เจริญเติบโตขึ้น “ในการเข้าใจความจริงและพระวาจาที่ถ่ายทอดต่อกันมา นี่เกิดขึ้นจากการเพ่งพิศและการศึกษาที่กระทำโดยผู้ที่มีความเชื่อ ซึ่งสะสมสิ่งเหล่านี้ในดวงใจของตน (เทียบ ลก 2: 28, 51) โดยเข้าถึงความเข้าใจฝ่ายจิตซึ่งพวกเขามีประสบการณ์และโดยอาศัยการเทศน์ของผู้ที่ได้รับอำนาจด้วยการสืบทอดตำแหน่งบิชอปพร้อมกับของขวัญแห่งความจริง” (DV ข้อ 8) ที่จริงประชากรเหล่านี้ถูกรวบรวมไว้ด้วยกันจากผู้เลี้ยงดูฝูงแกะจะยึดมั่นอยู่ในคลังแห่งพระวาจาของพระเจ้าที่มอบให้ไว้กับพระศาสนจักรซึ่งยืนหยัดมั่นคงเสมอในคำสอนของบรรดาอัครธรรมทูตในความเป็นเอกภาพแห่งภราดรภาพ ในการหักปัง และในการอธิษฐานภาวนา “เพื่อการยึดมั่น การปฏิบัติ และการแสดงถึงมรดกแห่งความเชื่อในส่วนของบิชอปและของประชาสัตบุรุษจะกลายเป็นความพยายามเพื่อให้เกิดเอกภาพ” (DV ข้อ 10)

14. ผู้เลี้ยงดูฝูงแกะที่ได้รับการสถาปนาโดยพระเจ้าในฐานะ “ผู้พิทักษ์ที่แท้จริง ผู้ตีความ และประจักษ์พยานของพระศาสนจักรต่าง ๆ” [16] ท่านเหล่านั้นจึงไม่ควรหวั่นกลัวที่จะรับฟังฝูงแกะที่ตนเองได้รับมอบหมายให้ดูแล การปรึกษาหารือกับประชากรของพระเจ้าไม่ใช่หมายความว่านี่เป็นเรื่องภายในพระศาสนจักรที่มีพลวัตแห่งความเป็นประชาธิปไตยที่มีหลักอยู่บนคะแนนเสียงส่วนใหญ่แบบทางการเมือง เพราะในพื้นฐานแห่งการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการแห่งการก้าวเดินไปด้วยกันนั้นยังมีพันธกิจร่วมกันในการประกาศพระวรสารและไม่ใช่เป็นตัวแทนของการมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน พูดอีกอย่างหนึ่งคือ นี่เป็นกระบวนการของพระศาสนจักรที่สามารถเกิดขึ้นได้ “ณ หัวใจแห่งชุมชนที่มีโครงสร้างในรูปแบบของฐานันดรสมณะ” [17] อันอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นผลระหว่างจิตสำนึกในความเชื่อ (sensus fidei) หรือการเป็นพยานในพระจิต แห่งประชากรของพระเจ้ากับอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เลี้ยงดูฝูงแกะที่การเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ของพระศาสนจักรทุกระดับในความเชื่อเดียวกันที่ปรากฏให้เห็น กระบวนการก้าวไปด้วยกันทุกประการซึ่งบรรดาบิชอปถูกเรียกร้องให้ไตร่ตรองอย่างจริงจังว่าพระจิตทรงตรัสเช่นไรบ้างกับพระศาสนจักร ไม่ใช่ด้วยความคิดของตนเอง แต่ด้วยการฟังประชากรของพระเจ้าซึ่ง “มีส่วนร่วมด้วยเช่นกันในการประกาศพระวรสารของพระเยซูคริสต์” (LG ข้อ 12) นี่คือรูปแบบที่ชัดเจนของ “การก้าวเดินไปด้วยกัน” ซึ่งจะทำให้พระศาสนจักรเจริญเติบโต นักบุญเบเนดิกต์กล่าวย้ำว่า “บ่อยครั้งพระเยซูคริสต์เผยให้เห็นถึงหนทางที่ดีที่สุดที่จะต้องดำเนินไปเช่นไร” [18] โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่มีตำแหน่งสำคัญในชุมชน (เช่นผู้ที่วัยเยาว์ที่สุด) ดังนั้นบรรดาบิชอปพึงใส่ใจระมัดระวังที่จะต้องพยายามก้าวไปให้ถึงทุกคน เพื่อที่การก้าวเดินไปด้วยกันจะค่อยคลี่คลายออกมาในสิ่งที่อัครธรรมทูตเปาโลแนะนำต่อชุมชนนั้น ๆ จะได้กลายเป็นความจริง “อย่าดับไฟของพระจิต อย่าดูหมิ่นการประกาศพระวาจา จงทดสอบทุกสิ่งและยึดสิ่งที่ดีงามไว้” (1 ธส 5: 19-21)

15. ความหมายของการเดินทางที่พวกเราทุกคนถูกเรียกร้องก่อนอื่นใดหมดคือการค้นหาให้พบใบหน้าและรูปแบบของพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันซึ่ง “ทุกคนมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องเรียนรู้ ทั้งประชาสัตบุรุษ คณะบิชอป และบิชอปแห่งกรุงโรม (พระสันตะปาปา) ทุกคนต้องฟังกันและทุกคนต้องฟังพระจิต ‘พระจิตแห่งความจริง’ (ยน 14: 17) เพื่อที่จะทราบว่าพระองค์ ‘ตรัสสิ่งใดกับพระศาสนจักร’ (วว 2: 7)” [19] บิชอปแห่งกรุงโรม (พระสันตะปาปา) ในฐานะที่เป็นบุคคลหลักและรากฐานแห่งความเป็นเอกภาพของพระศาสนจักรจะขอร้องบิชอปทุกองค์และพระศาสนจักรทุกแห่ง ซึ่งพวกเขารวมกันเป็นพระศาสนจักรหนึ่งเดียว (เทียบ LG ข้อ 23) ขอให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยความมั่นใจและกล้าหาญในหนทางแห่งการก้าวเดินไปด้วยกัน ใน “การเดินทางร่วมกันนี้” พวกเราจะวิงวอนพระจิตโปรดช่วยให้พวกเราพบกับความเป็นเอกภาพที่นำเอาความหลากหลายแห่งของขวัญ พระพรพิเศษ และพันธกิจมาให้พวกเรา เพื่อการกระทำพันธกิจของ พระศาสนจักรที่กำลังก้าวเดินไปด้วยกัน เป็นพระศาสนจักรที่ “ก้าวไปข้างหน้า” เป็นพระศาสนจักรที่เป็นธรรมทูต “ที่เปิดประตูกว้าง” (EG ข้อ 46) นี่รวมถึงการเรียกร้องให้กระชับความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับพระศาสนจักรและชุมชนคริสตชนนิกายอื่น ๆ ซึ่งพวกเราต่างก็เป็นเอกภาพในศีลล้างบาปเดียวกัน ดังนั้นมิติแห่ง “การก้าวเดินไปด้วยกัน” มีความหมายกว้างและรวมไปถึงมนุษย์ทุกคนที่พวกเรามีส่วนร่วมในโลกทั้งมิติของ “ความชื่นชมยินดีและความหวัง ความทุกข์เศร้าและความกังวล” (GS ข้อ 46) พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันเป็นเครื่องหมายแห่งการประกาศพระวรสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับทุกชุมชนและทุกชาติที่ไม่สามารถเสนอโครงการร่วมกันเพื่อความดีงามของทุกคน การก้าวเดินไปด้วยกันสำหรับพระศาสนจักรในทุกวันนี้เป็นหนทางที่ชัดเจนที่สุดในการเป็น “เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์สากลแห่งความรอด” (LG ข้อ 48) อันเป็น “เครื่องหมายและเครื่องมือแห่งความเป็นเอกภาพอย่างใกล้ชิดกับพระเจ้าและเป็นเอกภาพกับมนุษยชาติทั้งปวง” (LG ข้อ 1)

III. การฟังพระคัมภีร์

16. พระจิตของพระเจ้าผู้ทรงประทานความสว่างและทำให้ “การก้าวเดินด้วยกัน” ของพระศาสนจักรมีชีวิตชีวา เป็นพระจิตองค์เดียวกันซึ่งทำงานในพันธกิจของพระเยซูคริสต์ ที่ทรงให้สัญญากับบรรดาอัครธรรมทูตและกับลูกหลานของบรรดาศิษย์ ผู้ที่ฟังพระวาจาของพระเจ้าแล้วนำไปปฏิบัติ ตามคำสัญญาของพระเยซูคริสต์พระจิตจะไม่ทรงจำกัดพระองค์ในการยืนยันในการประกาศพระวรสารของพระเยซูคริสต์อย่างต่อเนื่อง แต่จะทรงประทานความสว่างอย่างล้ำลึกแห่งการเผยแสดงของพระองค์ และบันดาลให้มีการตัดสินใจที่จำเป็นเพื่อทะนุบำรุงการเดินทางของพระศาสนจักร (เทียบ ยน 14: 25-26; 15: 26-27; 16: 12-15) ดังนั้นจึงเป็นการเหมาะสมที่การเดินทางในการสร้างพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันต้องได้รับแรงบันดาลใจด้วย “ภาพสองภาพ” จากพระคัมภีร์ ภาพหนึ่งเกิดจากการมีตัวแทนจาก “เวทีชุมชน” ซึ่งติดตามอย่างสม่ำเสมอในการเดินทางแห่งการประกาศพระวรสาร ส่วนอีกภาพหนึ่งพูดถึงประสบการณ์ของพระจิตที่เปโตรและชุมชนแรก ๆ ได้รับรู้ถึงภัยอันตรายของการมีข้อจำกัดที่ไม่ชอบธรรมในการแบ่งปันความเชื่อ ประสบการณ์ของการก้าวเดินไปด้วยกันด้วยการติดตามพระเยซูคริสต์และในความนบนอบต่อพระจิตจะทำให้พวกเราสามารถได้รับแรงดลใจจากการรำพึงเกี่ยวกับมิติสองประการแห่งการเผยแสดงนี้

พระเยซูคริสต์ ฝูงชน อัครธรรมทูต

17. ภาพแรกปรากฏมาในโครงสร้างพื้นฐานดุจวิธีปกติที่พระเยซูคริสต์ทรงเผยพระองค์ในพระวรสารทั้งหมดเมื่อพระองค์ทรงประกาศการมาถึงแห่งพระอาณาจักรของพระเจ้า โดยแก่นแท้แล้วมีผู้กระทำสามบุคคล (บวกหนึ่ง) ที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่าบุคคลแรกคือพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นผู้สูงสุดที่ทรงริเริ่มด้วยการหว่านพระวาจา และเครื่องหมายแห่งการมาถึงของพระอาณาจักรโดยปราศจากซึ่ง “ความลำเอียง” (เทียบ กจ 10: 34) ด้วยวิธีการต่างๆ พระเยซูคริสต์ทรงใส่พระทัยเป็นพิเศษกับผู้ที่ “ถูกแยก” ออกจากพระเจ้าและผู้ที่ “ถูกทอดทิ้ง” จากชุมชน (คนบาปและคนยากจนในภาษาพระคัมภีร์) โดยอาศัยพระวาจาและการกระทำพระองค์ทรงประทานความเป็นไทจากบาปให้พวกเราและให้มีการกลับใจสู่ความหวังในพระนามของพระบิดา และในอำนาจของพระจิต แม้แต่ในความหลากหลายโดยการเรียกของพระเยซูคริสต์ การตอบรับของพวกเขา แนวโน้มทั่วไปก็คือความเชื่อจะเกิดขึ้นกลายเป็นคุณค่าของประชาชน การวิงวอนของพวกเขาได้รับการสดับฟัง ความยากลำบากของพวกเขาได้รับความช่วยเหลือ ความเพียบพร้อมของพวกเขาได้รับการชื่นชม ศักดิ์ศรีของพวกเขาได้รับการยืนยันจากการเพ่งพิศของพระเจ้าและได้รับการฟื้นฟูโดยเป็นที่ยอมรับกันในชุมชน

18. ความจริงพันธกิจในการประกาศพระวรสารและสารแห่งความรอดไม่น่าจะเป็นที่เข้าใจกันได้หากปราศจากซึ่งการแจ้งให้กับผู้ที่มารับฟังทราบเสมอโดยพระเยซูคริสต์ซึ่งพระวรสารพูดถึงคนเหล่านี้ว่าเป็นฝูงชน กล่าวคือ ทุกคนที่ติดตามพระองค์ไปตามหนทางที่พระองค์ดำเนินไป และบางครั้งแม้กระทั่งติดตามพระองค์ไปในความหวังที่จะเห็นเครื่องหมายและพระวาจาแห่งความรอด นี่เป็นตัวกระทำอย่างที่สองในฉากแห่งการเผยแสดง การประกาศพระวรสารมิใช่มีเพียงแค่เพื่อผู้ที่เป็นปราชญ์บุคคลมีความรู้หรือบุคคลที่ถูกเลือกสรรเพียงไม่กี่คน ทว่าคู่สนทนาของพระเยซูคริสต์เป็น “ประชาชน” ที่มีชีวิตธรรมดาสามัญ “ทุกคน” ที่มีสภาพมนุษย์ซึ่งพระองค์ทรงทำให้พวกเขาได้รับการสัมผัสโดยตรงกับของขวัญและการเรียกให้เข้าสู่ความรอดของพระเจ้า ในทำนองที่ทำให้พวกเราประหลาดใจและบางครั้งถึงกับเป็นที่สะดุดกับผู้ที่เป็นประจักษ์พยาน พระเยซูคริสต์ทรงรับทุกคนจากฝูงชนในฐานะเพื่อนสนทนา พระองค์ทรงฟังหญิงชาวคานาอัน (เทียบ มธ 15: 21-28) ซึ่งไม่สามารถเป็นผู้ที่ถูกยอมรับได้กับการที่เธอถูกตัดออกจากพระพรที่พระองค์นำมา พระองค์ทรงยอมเสวนากับหญิงชาวสะมาเรีย (เทียบ ยน 4: 1-42) แม้ในสายตาของคนทั่วไปนางจะถูกถือว่าเป็นหญิงแพศยา พระองค์ทรงโปรดให้ชายที่เกิดมาตาบอดเป็นไทและมีความเชื่อ (เทียบ ยน 9) ซึ่งผู้นำฝ่ายศาสนาได้อัปเปหิเขาให้เป็นคนที่อยู่นอกขอบเขตแห่งพระหรรษทาน

19. บางคนติดตามพระเยซูคริสต์อย่างเปิดเผยโดยมีประสบการณ์กับความซื่อสัตย์ของบรรดาศิษย์ในขณะที่คนอื่นถูกขอร้องให้กลับไปดำเนินชีวิตตามปกติ แต่ทุกคนต่างยืนยันถึงอำนาจของความเชื่อที่ช่วยให้พวกเขารอด (เทียบ มธ 15: 28) ในบรรดาผู้ที่ติดตามพระเยซูคริสต์นั่นคือภาพลักษณ์ของบรรดาอัครธรรมทูตผู้ที่พระเยซูคริสต์ทรงเรียกพวกเขามาตั้งแต่ต้น พระองค์ทรงมอบหน้าที่ให้พวกเขามีอำนาจเป็นคนกลางในความสัมพันธ์ของฝูงชนกับการเผยแสดงถึงการมาถึงของพระอาณาจักรของพระเจ้านั้นถือว่ามีนัยอันสำคัญ ปัจจัยในการปฏิบัติการที่สามที่เข้ามาในฉากได้เกิดขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณพระเจ้าที่ไม่ใช่เฉพาะการเยียวยารักษาและการกลับใจ แต่เป็นเพราะว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกับการเรียกของพระเยซูคริสต์ การเลือกบรรดาอัครธรรมทูตไม่ใช่เป็นอภิสิทธิ์ของการมีตำแหน่งสูงและมีอำนาจ ทว่านั่นเป็นพระหรรษทานที่หมายถึงพันธกิจแห่งพระพรและการเป็นกัลยาณมิตรผู้ร่วมงาน พวกเราต้องขอบคุณของขวัญของพระจิตของพระผู้ที่เสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ พวกเขาต้องปกป้องจุดยืนของพระเยซูคริสต์โดยที่ไม่ต้องไปเอาตัวเองเข้าไปแทนพระองค์ ต้องไม่มีการกลั่นกรองตรวจสอบในการประทับอยู่ของพระองค์ แต่ต้องทำให้สิ่งต่าง ๆ ง่ายยิ่งขึ้นที่จะเข้าถึงพระองค์

20. พระเยซูคริสต์ ฝูงชนที่หลากหลาย อัครธรรมทูต นี่คือภาพแห่งพระธรรมล้ำลึกที่พวกเราต้องเพ่งพิศไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งสม่ำเสมอพร้อมกับศึกษาอย่างลุ่มลึกเพื่อที่พระศาสนจักรจะยิ่งวันยิ่งจะเป็นสิ่งที่ตัวตนเป็น ผู้กระทำการทั้งสามประการไม่อาจที่จะสละประเด็นเหล่านี้ไปได้ หากปราศจากซึ่งพระเยซูคริสต์และมีใครอื่นเข้ามาแทนที่พระองค์ การสัญญาระหว่างอัครธรรมทูตและฝูงชนรวมทั้งการเสวนาของพวกเขาก็จะลงเอยด้วยการทำตามกลอุบายของเกมทางการเมือง หากปราศจากซึ่งอัครธรรมทูตที่ได้รับอำนาจจากพระเยซูคริสต์และได้รับการชี้นำจากจากพระจิตความสัมพันธ์ระหว่างความจริงแห่งพระวรสารก็จะแตกหักสะบั้น และฝูงชนไม่ว่าจะรับหรือปฏิเสธพระเยซูคริสต์ก็คงจะตกอยู่ในกงกำกงเกวียนของการนับถือพระเท็จเทียมเกี่ยวกับพระองค์ หากปราศจากซึ่งฝูงชนความสัมพันธ์ของอัครธรรมทูตกับพระเยซูคริสต์ก็จะสิ้นความขลังจนเปลี่ยนแปลงเป็นพรรคเป็นพวก และเป็นรูปแบบของศาสนาที่ยึดเอาตนเองเป็นหลัก และการประกาศพระวรสารที่เกิดจากการเผยแสดงตนโดยตรงที่พระเจ้าทรงปรากฏเป็นการส่วนพระองค์ให้กับทุกคนด้วยการมอบความรอดให้แก่พวกเขาก็จะไปถึงความว่างสูญเปล่าอันไร้คุณค่า

21. นอกนั้นยังมีปัจจัยตัวกระทำ “พิเศษ” อีกหนึ่งประเด็นหนึ่ง คือศัตรูซึ่งนำเอาฉากแห่งการแตกแยกแห่งปิศาจมาสู่ปัจจัยของการปฏิบัติการทั้งสามประการข้างต้น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยที่รบกวนสภาวะของไม้กางเขน ยังมีศิษย์บางคนที่ละทิ้งฝูงชนที่เปลี่ยนอารมณ์ไป กลับกลายเป็นความชั่วร้ายที่ทำให้เกิดการแตกแยก – ดังนั้นพวกเขาจึงขัดขวางทางเดิน – ปรากฏตนเองในรูปแบบต่างๆ ของการเคร่งศาสนาหรืออะไรทำนองนี้ที่เกี่ยวกับศีลธรรมที่ปรากฏออกมาว่าสิ่งเหล่านั้นสำคัญกว่าพระเยซูคริสต์ รวมถึงเล่ห์กลของความเฉลียวฉลาดแกมโกงทางการเมืองที่อ้างอิงว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้จิตไตร่ตรอง เพื่อหลีกเลี่ยงการล่อลวงของ “ปัจจัยตัวกระทำที่สี่” การกลับใจอยู่เสมอเป็นสิ่งจำเป็น ที่เป็นตัวอย่างเกี่ยวกับประเด็นนี้คือเรื่องราวของนายร้อย โครเนลีอัส (เทียบ กจ 10) ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดก่อน “สังคายนา” แห่งเยรูซาเล็ม (เทียบ กจ 15) ซึ่งสร้างจุดอ้างอิงที่สำคัญสำหรับพระศาสนจักรที่จะก้าวเดินไปด้วยกัน

พลวัตอันทรงพลังแบบสองเท่า ของการสนทนาระหว่างเปโตรกับโครเนลีอัส (กจ 10)

22. ก่อนอื่นเรื่องเล่าการกลับใจของนายร้อยโครเนลีอัสซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการแจ้งข่าวอย่างหนึ่ง เขาเป็นคนถือศาสนาอื่นซึ่งเข้าใจว่าเป็นชาวโรมัน เขาเป็นทหารชั้นผู้น้อยที่ถูกส่งไปประจำที่เมืองขึ้นซึ่งการปฏิบัติ และหน้าที่ของเขาคือการใช้กำลังในความรุนแรงและการใช้อำนาจอย่างตามใจชอบ ทว่าเขาชอบอุทิศตนให้กับการสวดภาวนาและทำบุญให้ทาน กล่าวคือเขาสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเอาใจใส่ดูแลเพื่อนบ้าน น่าแปลกใจที่ทูตสวรรค์เข้ามาในบ้านของเขาแล้วขานชื่อของเขาพร้อมกับเตือนเขาให้ส่งคนรับใช้ของเขาไปที่เมืองยัฟฟา เพื่อเรียกหาเปโตร – สังเกตคำกริยาของการส่ง และคำกริยาของกระแสเรียก –จากนั้นเรื่องต่อมาก็กลายเป็นการกลับใจของโครเนลีอัส ซึ่งในวันเดียวกันนั้นเปโตรได้รับนิมิตเป็นเสียงที่สั่งให้เขาฆ่าและกินเนื้อสัตว์ ซึ่งบางชนิดถือว่าไม่สะอาด เปโตรตอบอย่างเด็ดขาดว่า “ไม่มีทาง ข้าแต่พระเจ้า” (กจ 10: 14) ท่านรับรู้อย่างดีว่าเป็นพระเยซูคริสต์ที่ตรัสกับท่าน แต่ท่านไม่ยอม เพราะว่าคำสั่งนั้นขัดกับบัญญัติของคัมภีร์โตราห์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามอัตลักษณ์แห่งศาสนาที่ท่านนับถือและแสดงถึงวิธีของความเข้าใจของการเลือกในฐานะที่เป็นความแตกต่างอันหมายถึงการแยกตัวเองจากผู้อื่น

23. อัครธรรมทูตเปโตรรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งและขณะที่ท่านกำลังครุ่นคิดเกี่ยวกับความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น บุรุษที่นายร้อยโครเนลีอัสส่งไปก็มาถึงที่นั่นพอดี พระจิตแสดงให้เปโตรทราบว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้แทนของโครเนลีอัส เปโตรตอบด้วยวาจาที่ท่านจำได้ว่าเป็นพระวาจาของพระเยซูคริสต์ที่ได้ตรัสในสวนเกทเสมนี “เราคือผู้ที่พวกท่านกำลังตามหา” (กจ 10: 21) นี่คือการสนทนาที่แท้จริงและเหมาะสม เป็นข้อความที่บังเกิดผลยิ่งใหญ่และเจ็บปวดของการที่ต้องทิ้งความเชื่อทางศาสนา และวัฒนธรรมของตน เปโตรยอมร่วมรับประทานอาหารกับคนต่างศาสนาซึ่งท่านเองครุ่นคิดอยู่เสมอว่านั่นเป็นสิ่งต้องห้าม ขณะเดียวกันท่านก็รับรู้อย่างดีว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตและเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้อื่น เป็นการพบปะกับผู้อื่น เป็นการต้อนรับพวกเขา เป็นการเดินทางไปด้วยกันกับพวกเขา เป็นการเข้าไปในบ้านพวกเขาซึ่งเป็นการทำให้ความหมายแห่งวิสัยทัศน์ของเปโตรเป็นจริง ไม่มีมนุษย์ผู้ใดคู่ควรในสายพระเนตรของพระเจ้า และความแตกต่างที่เกิดขึ้นในการเป็นผู้ได้รับเลือกนั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ที่มีอภิสิทธิ์พิเศษ แต่เป็นการบริการรับใช้และการเป็นประจักษ์พยานในความเป็นสากลภาพของพระจิต

24. ทั้งโครเนลีอัสและเปโตรร่วมมือกับผู้อื่นในการเดินทางแห่งการกลับใจของพวกเขาด้วยการเป็นมิตรกับพวกเขาในการเดินทาง การกระทำของอัครธรรมทูตทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จไปด้วยการสร้างชุมชน ขจัดเครื่องกีดขวาง พร้อมกับส่งเสริมการพบปะกัน พระวาจามีบทบาทสำคัญในการพบปะกันระหว่างผู้นำสองคน โครเนลีอัสเริ่มด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ของตน เปโตรฟังเขาแล้วจึงสนทนาและเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนให้เขาทราบพร้อมกับเป็นประจักษ์พยานในความใกล้ชิดของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงออกไปพบผู้คนเป็นการส่วนตัว เพื่อที่จะทำให้เขาเป็นไทจากสิ่งที่เขาเป็นนักโทษแห่งความชั่วร้ายที่คอยทรมานมนุษย์ (เทียบ กจ 10: 38) การสื่อสารกันทำนองนี้ก็คล้ายกับสิ่งที่เปโตรจะนำไปปฏิบัติในกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อผู้ที่มีความเชื่อและได้รับการเข้าสุหนัตตำหนิเปโตร กล่าวหาท่านว่าเป็นผู้ที่ทำลายธรรมประเพณี ซึ่งทุกคนดูเหมือนจะใส่ใจในประเด็นนี้ในขณะที่ไม่สนใจใยดีต่อพระพรของพระจิต “ท่านเข้าไปในบ้านของคนที่ไม่ได้รับพิธีสุหนัตและรับประทานอาหารกับพวกเขา” (กจ 21: 3) ในช่วงที่เกิดความขัดแย้ง เปโตรเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนให้พวกเขาฟัง และปฏิกิริยาแห่งการตื่นตระหนกและความไม่เข้าใจพร้อมกับการต่อต้าน แน่นอนว่านี่ทำให้คู่สนทนาซึ่งในตอนแรกจะก้าวร้าวและดื้อรั้นค่อยๆ ยอมฟังและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น พระคัมภีร์จะช่วยตีความหมายเช่นเดียวกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน “สภาสังคายนา” แห่งกรุงเยรูซาเล็มในกระบวนการไตร่ตรองที่ประกอบด้วยการฟังด้วยกันในองค์พระจิต

IV. การก้าวเดินไปด้วยกันในภาคปฏิบัติ: หนทางของการปรึกษาหารือกับประชากรของพระเจ้า

25. เมื่อได้รับความสว่างจากพระวาจาและหยั่งรากลึกในธรรมประเพณีหนทางแห่งการก้าวเดินไปด้วยกันจึงมีรากเหง้าอยู่ในชีวิตที่เป็นรูปธรรมแห่งประชากรของพระเจ้า ความจริงเรื่องนี้ยังคงเป็นความแปลกที่ว่ายังเป็นทรัพยากรพิเศษด้วย เป้าหมายของภาคปฏิบัตินี้ – การก้าวเดินไปด้วยกัน – ยังเป็นยุทธวิธีด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เหมือนกับการสร้างบริเวณพื้นที่งานในการก่อสร้างหรือประสบการณ์นำร่อง ซึ่งทำให้เป็นไปได้ที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลโดยทันทีในพลวัตของการกลับใจเมื่อการก้าวเดินไปด้วยกันนำมาสู่ชุมชนคริสตชน ในอีกมุมมองหนึ่งนี่จะสามารถอ้างอิงได้ก็โดยประสบการณ์แห่งการก้าวเดินไปด้วยกันที่นำมาปฏิบัติเท่านั้นในระดับต่างๆ ด้วยมาตรการของความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ปัจจัยที่มีคุณค่าสำหรับการไตร่ตรองในทิศทางที่พวกเขาจะก้าวไปนั้นจะทำกันอย่างเต็มพลังจนประสบกับความสำเร็จ และยังคงต้องคำนึงถึงข้อจำกัดและความยากลำบากด้วย แน่นอนว่า ณ จุดนี้การอ้างอิงหมายถึงประสบการณ์ที่ถูกทำให้เป็นจริงด้วยการเดินทางที่ก้าวไปด้วยกันในปัจจุบัน และยังหมายถึงทุกสิ่งในรูปแบบของ “การเดินทางไปด้วยกัน” ที่กำลังมีประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน แม้คำว่าการก้าวเดินไปด้วยกันจะยังไม่เป็นทราบกันหรือนำมาปฏิบัติกันอย่างจริงจังก็ตาม

คำถามพื้นฐาน

26. คำถามพื้นฐานที่ชี้นำการปรึกษาหารือกับประชากรของพระเจ้าดังที่ระบุไว้ตั้งแต่ต้นมีดังต่อไปนี้:

พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันในการประกาศพระวรสาร “การเดินทางด้วยกัน” การเดินทางด้วยกันเกิดขึ้นได้อย่างไรในทุกวันนี้ในพระศาสนจักรของท่าน? มีขั้นตอนอะไรบ้างที่พระจิตทรงเชื้อเชิญให้พวกเราเดินเพื่อที่จะเจริญเติบโตขึ้นใน “การเดินทางด้วยกัน” ของพวกเรา?

เพื่อที่จะตอบคำถาม ท่านถูกเชิญให้ต้องปฏิบัติ คือ

ก) ถามตนเองก่อนว่ามีประสบการณ์อะไรบ้างในพระศาสนจักรของท่านเกี่ยวกับคำถามพื้นฐานนี้

ข) ทบทวนประสบการณ์เหล่านี้ให้ลึกซึ้ง สิ่งต่าง ๆ นี้ก่อให้เกิดความชื่นชมยินดีอะไรบ้าง? มีความยากลำบากและอุปสรรคอะไรบ้างที่พวกเขาประสบ? มีบาดแผลอะไรบ้างที่พวกเขานำมาเปิดเผยในที่สาธารณะ? มีความคิดเชิงลึกอะไรบ้างที่พวกเขาสามารถคิดได้?

ค) รวบรวมผลต่าง ๆ นำมาแบ่งปันกัน ในประสบการณ์เหล่านี้มีเสียงของพระจิตก้องกังวาน ณ ที่ใดบ้าง? พระองค์ทรงขอร้องสิ่งใดจากพวกเรา? มีข้อใดบ้างที่ต้องยืนยัน ความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลง ขั้นตอนใดบ้างที่ต้องดำเนิน? พวกเรามีความเห็นพ้องต้องกันเมื่อใด? ยังมีหนทางใดบ้างที่คงเปิดให้กับพระศาสนจักรของพวกเรา?

การตัดสินใจที่แตกต่างของการก้าวเดินไปด้วยกัน

27. ในการสวดภาวนา การรำพึงไตร่ตรอง และในการแบ่งปันที่ถูกกระตุ้นด้วยคำถามพื้นฐาน เป็นโอกาสที่ต้องคิดถึงสามระดับในการก้าวเดินไปด้วยกัน ซึ่งจะต้องนำไปปฏิบัติดุจเป็น “มิติธรรมนูญของพระศาสนจักร” [20]

* ระดับของรูปแบบที่พระศาสนจักรดำรงชีวิตและทำงานตามปกติซึ่งแสดงออกถึงธรรมชาติของตนในฐานะที่เป็นประชากรของพระเจ้าที่เดินทางไปด้วยกัน และรวมตัวกันในการชุมนุมโดยพระเยซูคริสต์ด้วยอำนาจของพระจิตเพื่อประกาศพระวรสาร รูปแบบนี้เป็นจริงได้โดยอาศัย “ชุมชนที่ฟังพระวาจาและทำการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท ความเป็นพี่น้องแห่งความเป็นเอกภาพ ความรับผิดชอบร่วมกันและการมีส่วนร่วมของประชากรทุกคนของพระเจ้าในชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักรในทุกระดับ และจะมีความแตกต่างกันระหว่างพันธกิจและบทบาท” [21]

* ระดับโครงสร้างของพระศาสนจักรและกระบวนการซึ่งถูกกำหนดโดยมิติเทววิทยาและประมวลกฎหมายของพระศาสนจักร ซึ่งธรรมชาติแห่งการก้าวเดินไปด้วยกันของพระศาสนจักรแสดงตนในรูปแบบของสถาบันในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับสากล

* ระดับของการกระบวนการก้าวเดินไปด้วยกันในเหตุการณ์ที่พระศาสนจักรถูกเรียกร้องโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกระบวนการเฉพาะที่กำหนดไว้โดยระเบียบวินัยของพระศาสนจักร
แม้ว่าจะมีความชัดเจนในมุมมองแห่งตรรกะทั้งสามระดับนี้ต้องมีการเชื่อมสัมพันธ์ซึ่งกันและกันและต้องปฏิบัติไปพร้อมกันอย่างกระชับแน่น มิฉะนั้นแล้วผลที่ตรงกันข้ามจะเกิดขึ้นและความน่าเชื่อถือของพระศาสนจักรจะถูกบั่นทอน ความจริงหากพวกเราไม่ยึดติดอยู่กับโครงสร้างและกระบวนการรูปแบบของการก้าวเดินไปด้วยกันก็จะเกิดการเสื่อมถอยลงอย่างง่ายดายจากระดับแห่งความตั้งใจและความปรารถนาจนเหลือเพียงแค่วาทกรรมในขณะที่กระบวนการและเหตุการณ์ในการทบทวนประสบการณ์หากไม่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบที่ดีพอก็อาจจะกลายเป็นพิธีการที่ว่างเปล่า

28. ยิ่งไปกว่านั้นในการทบทวนประสบการณ์จริงจำเป็นต้องระลึกไว้เสมอว่า “การก้าวเดินไปด้วยกัน” อาจเข้าใจได้จากสองมุมมองที่แตกต่างกัน มุมมองแรกจะมองไปที่ชีวิตภายในของพระศาสนจักร ความสัมพันธ์องค์ประกอบต่างๆ (ที่สำคัญที่สุดเรื่องแรกคือระหว่างสัตบุรุษกับผู้นำพระศาสนจักร ผู้เลี้ยงดูฝูงแกะ และองค์กรที่มีส่วนร่วมซึ่งมองจากกฎหมายรวมถึงซีนอดของเขตศาสนนปกครองด้วย) และชุมชนความเชื่อที่มีการแบ่งแยกกัน (โดยเฉพาะวัด) จึงต้องมีการพิจารณากันถึงความสัมพันธ์ระหว่างบรรดาบิชอปและบิชอปแห่งกรุงโรม (พระสันตะปาปา) องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการก้าวเดินไปด้วยกันโดยตรง (สภาซีนอดของพระศาสนจักรแห่งพระอัยกาในจารีตตะวันออก สภาสังคายนาของคณะพระอัยกาคาทอลิกที่มีการปกครองตนเอง และสภาบิชอปคาทอลิกที่มีการแสดงออกมาในระดับชาติ ระดับทวีป และระดับสากล) แล้วยังขยายต่อไปยังหนทางที่แต่ละพระศาสนจักรที่รวมตัวกันส่งเสริมรูปแบบต่างๆ แห่งชีวิตฤษีนักพรต ชีวิตนักบวชชายหญิง และชีวิตผู้ถวายตัว สมาพันธ์ฆราวาสและกระบวนการขับเคลื่อนต่างๆ แห่งสถาบันพระศาสนจักรประเภทต่างๆ (โรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย มูลนิธิ องค์กรกุศลและให้ความช่วยเหลือสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ) ที่สุดมิตินี้ยังรวมถึงความสัมพันธ์ ความคิดริเริ่มทั่วไปกับบรรดาพี่น้องคริสตศาสนิกที่นับถือนิกายต่างๆ ที่พวกเรามีส่วนร่วมในของขวัญแห่งศีลล้างบาปเดียวกัน

29. มิติที่สองจะพิจารณาว่าประชากรของพระเจ้าจะเดินทางด้วยกันกับครอบครัวมนุษยชาติทั้งปวงอย่างไร ดังนั้นการพิจารณาของพวกเราจะมุ่งไปยังสภาพของความสัมพันธ์ การเสวนา และความคิดร่วมกันที่อาจเป็นไปได้กับผู้ที่มีความเชื่ออื่น ๆ หรือผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ๆ กับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากความเชื่อ รวมถึงสิ่งแวดล้อมของสังคมและกลุ่มพิเศษต่างๆ กับสถาบันของพวกเขา (โลกของการเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเงิน แรงงาน สหภาพการค้า สมาคมธุรกิจ ชนกลุ่มน้อยต่างๆ คนยากจน คนที่ถูกทอดทิ้ง ฯลฯ)

ประเด็นสำคัญ 10 หัวข้อ

ที่ต้องศึกษาค้นคว้าวิจัย

ประเด็นที่ 1 การเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง

ในพระศาสนจักรและในสังคมพวกเราต่างอยู่เคียงข้างกันบนถนนเดียวกัน ในพระศาสนจักรท้องถิ่นของท่าน ใครบ้างเป็นผู้ที่ “เดินทางไปด้วยกัน”? เมื่อพวกเราพูดว่า “พระศาสนจักรของพวกเรา” มีใครเป็นผู้มีหุ้นส่วนบ้าง? ใครเป็นบุคคลที่ขอให้พวกเราเดินทางไปด้วยกัน? ใครเป็นเพื่อนผู้ร่วมเดินทางบนถนน รวมถึงผู้ที่อยู่นอกขอบเขตพระศาสนจักรด้วยไหม? มีใครบ้างหรือกลุ่มใดบ้างที่ถูกทิ้งให้เป็นบุคคลชายขอบสังคม นี่เป็นเพียงสิ่งที่พูดกันแบบลอยๆ หรือว่าเป็นความจริง

ประเด็นที่ 2 การฟัง

การฟังเป็นก้าวแรก ทว่าการฟังเรียกร้องให้ต้องเปิดใจกว้างโดยปราศจาความลำเอียงใดๆ พระศาสนจักรของพวกเรา “จำเป็นต้องฟัง” ฟังใครบ้าง? ต้องฟังเสียงฆราวาสโดยเฉพาะเยาวชนและสตรีด้วยไหม? พวกเราผนึกเอาการมีส่วนร่วมของผู้ถวายตัวทั้งชายและหญิงเข้ามาอย่างไร? ยังมีพื้นที่อีกไหมสำหรับเสียงของชนส่วนน้อย คนที่ไม่มีผู้ใดสนใจ และคนที่ถูกตัดขาดจากสังคม? พวกเรามีความลำเอียงและความเคยชินที่เป็นอุปสรรคต่อการฟังของพวกเราหรือไม่? พวกเรารับฟังในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมที่พวกเราดำเนินชีวิตอยู่อย่างไร?

ประเด็นที่ 3 การกล้าพูดออกมา

ทุกคนได้รับการเชิญให้พูดออกมาด้วยความกล้าหาญและจริงใจโดยผนึกเอาเสรีภาพ ความจริง และความรักเข้าไว้ด้วยกัน พวกเราส่งเสริมการสื่อสารที่เป็นอิสระและรูปแบบที่ถูกต้องแท้จริงในชุมชนและองค์กรอย่างไร โดยปราศจากการตีสองหน้าและการฉกฉวยโอกาส? และในสังคมที่พวกเราเป็นส่วนหนึ่ง? พวกเราจัดการพูดเรื่องที่มีความสำคัญต่อพวกเราเมื่อใดและอย่างไร? ความสัมพันธ์กับระบบการสื่อสาร (ไม่เพียงแค่ของคาทอลิก) พวกเราทำงานกันอย่างไร? ใครเป็นผู้พูดแทนชุมชนคริสตชน และมีการเลือกพวกเขากันอย่างไร?

ประเด็นที่ 4 การเฉลิมฉลองพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

“การเดินทางไปด้วยกัน” จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อต้องมีพื้นฐานอยู่กับการฟังซึ่งกันและกันในชุมชน ในการฟังพระวาจา และในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท การสวดภาวนาและพิธีกรรมเป็นแรงบันดาลใจและชี้นำ “การเดินทางด้วยกัน” ของพวกเราอย่างไร? พวกเราส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของสัตบุรุษทุกคนในจารีตพิธีกรรม และการปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์อย่างไร? ในชุมชนความเชื่อของพวกเรามีการกระทำอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมพันธกิจของผู้อ่านและผู้ช่วยพิธีกรรม?

ประเด็นที่ 5 การรับผิดชอบร่วมกันในการทำพันธกิจ

การก้าวเดินไปด้วยกันก็เพื่อที่จะรับใช้พันธกิจของพระศาสนจักร ซึ่งสมาชิกทุกคนถูกเรียกร้องให้ต้องมีส่วนร่วม เนื่องจากพวกเราทุกคนเป็นศิษย์ธรรมทูต ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปแต่ละคนถูกเรียกร้องให้ต้องเป็นผู้นำในการทำพันธกิจอย่างไร? ชุมชนให้การสนับสนุนสมาชิกที่อุทิศตนรับใช้สังคมอย่างไร (หน้าที่ฝ่ายสังคมและการเมือง การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และการสอนเรียน การส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม การปกป้องสิทธิมนุษยชน การเอาใจใส่ดูแลบ้านส่วนรวมของพวกเรา ฯลฯ)? ท่านช่วยพวกเขาให้ทำหน้าที่ในตรรกะแห่งพันธกิจอย่างไร? การไตร่ตรองเรื่องที่เกี่ยวกับการทำพันธกิจทำกันอย่างไร มีใครร่วมบ้าง? ขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกันที่เป็นอัตลักษณ์ของพระศาสนจักรหลายแห่งโดยเฉพาะในจารีตตะวันออกนั้นได้มีการปรับและเปลี่ยนที่มีความเกี่ยวข้องกับรูปแบบของก้าวเดินไปด้วยกันหรือไม่เพื่อเห็นแก่การเป็นประจักษ์พยานของคริสตชนที่มีประสิทธิภาพ? การทำงานร่วมมือกันในพระศาสนจักรซึ่งพื้นที่แตกต่างที่มีการปกครองตนเองนั้นเป็นอย่างไรบ้าง?

ประเด็นที่ 6 การเสวนาในพระศาสนจักรและในสังคม

การเสวนาคือหนทางแห่งความพากเพียรที่ยังรวมถึงความเงียบและความทุกข์ แต่สามารถที่จะสั่งสมประสบการณ์ของบุคคลและของประชาชน พวกเรามีที่ใดและรูปแบบใดแห่งการเสวนาภายในพระศาสนจักรของเรา? มีการจัดการวิสัยทัศน์ ความขัดแย้ง และความยากลำบากให้โค้งเข้าหากันอย่างไร? พวกเรามีการส่งเสริมความร่วมมือกันกับเขตศาสนปกครองใกล้เคียง กับคณะนักบวชในท้องที่ กับสมาคมฆราวาสและกระบวนขับเคลื่อนต่างๆ อย่างไร? พวกเรามีประสบการณ์ของการเสวนาและพวกเรามีปณิธานร่วมกันอะไรบ้างกับผู้ที่มีความเชื่อในศาสนาอื่น ๆ และผู้ที่ไม่มีความเชื่อ? พระศาสนจักรเสวนาและเรียนรู้จากองค์กรอื่นของสังคมอย่างไรในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมพลเรือน คนยากจน…?

ประเด็นที่ 7 การเสวนากับคริสตชนนิกายอื่น

การเสวนาระหว่างคริสตชนที่มีความเชื่อต่างกัน แต่มีความเป็นหนึ่งเดียวในศีลล้างบาปมีคุณสมบัติพิเศษในการเดินทางที่ก้าวไปด้วยกัน พวกเรามีความสัมพันธ์อย่างไรบ้างกับพี่น้องชายหญิงที่เป็นคริสตชนของนิกายอื่น ๆ ? มีประเด็นใดบ้างที่พวกเขาสนใจ? พวกเราได้รับผลเช่นไรบ้างจาก “การก้าวเดินไปด้วยกัน” นี้? มีปัญหาอะไรบ้างไหม?

ประเด็นที่ 8 อำนาจและการมีส่วนร่วม

พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันเป็นพระศาสนจักรของการมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบร่วมกัน พวกเราจะพบเป้าหมาย หนทางที่จะบรรลุ และขั้นตอนที่จะดำเนินการอย่างไร? มีการใช้อำนาจกันอย่างไรภายในแต่ละพระศาสนจักร? การทำงานกันเป็นทีมและการรับผิดชอบร่วมกันเป็นอย่างไรบ้าง? มีการส่งเสริมพันธกิจของฆราวาสและความรับผิดชอบของสัตบุรุษกันอย่างไร? คณะทำงานของซีนอดทำงานประสานกันอย่างไรในระดับของแต่ละพระศาสนจักร? เป็นประสบการณ์ที่มีประสิทธิผลหรือไม่อย่างไร?

ประเด็นที่ 9 การไตร่ตรองและการตัดสินใจ

ในรูปแบบของการก้าวไปด้วยกันการตัดสินใจทำโดยการไตร่ตรองโดยมีหลักการอยู่ที่การเห็นพ้องต้องกันที่เกิดจากความนอบน้อมในพระจิต โดยอาศัยกระบวนการและวิธีการใดที่พวกเราไตร่ตรองด้วยกันและทำการตัดสินใจ? สิ่งใดจะพัฒนาให้ดีกว่าได้และอย่างไร? พวกเราส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชุมชนที่มีโครงสร้างแบบฐานันดรแห่งสมณะอย่างไร? พวกเราจะสร้างความกระจ่างให้กับขั้นตอนในการปรึกษาหารือและกระบวนการตัดสินใจอย่างไร? พวกเราจะใช้เครื่องมืออะไรในการส่งเสริมความโปร่งใสและความรับผิดชอบ?

ประเด็นที่ 10 การอบรมตัวเราในการก้าวเดินไปด้วยกัน

ชีวิตแห่งการก้าวเดินไปด้วยกันถูกเรียกร้องให้เป็นหลักแห่งการอบรมบุคคลและคริสตชน ครอบครัวและชุมชน พวกเราจะอบรมประชาชนอย่างไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีบทบาทต้องรับผิดชอบภายในชุมชนคริสตชน เพื่อที่จะทำให้พวกเขามีความสามารถมากขึ้นใน “การเดินทางไปด้วยกัน” โดยการฟังซึ่งกันและกันและดำเนินการเสวนากัน? พวกเราใช้การอบรมแบบใดสำหรับการไตร่ตรองและการใช้อำนาจ? เครื่องมืออะไรที่จะช่วยให้พวกเราอ่านพลวัตแห่งวัฒนธรรมที่พวกเรานับถือและผลกระทบของพลวัตในรูปแบบในพระศาสนจักรของเรา?

การช่วยเหลือในการปรึกษาหารือ

31. เป้าหมายในขั้นตอนแรกของการก้าวเดินไปด้วยกันคือการส่งเสริมกระบวนการปรึกษาหารือกันในแนวกว้างเพื่อที่จะรวบรวมความมั่งคั่งสมบูรณ์แห่งประสบการณ์ของการดำเนินชีวิตในการก้าวเดินไปด้วยกันในความหลากหลายของโฉมหน้า ซึ่งรวมถึงผู้นำพระศาสนจักรผู้เลี้ยงดูฝูงแกะ ประชาสัตบุรุษของพระศาสนจักรในระดับที่มีความแตกต่างกันในทุกระดับโดยอาศัยเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดตามความเป็นจริงของแต่ละท้องที่ การปรึกษาหารือที่ประสานโดยบิชอปจะถูกส่งต่อไปยัง “ศาสนบริกร บาดหลวง สังฆานุกร และประชาสัตบุรุษของพระศาสนจักรท้องถิ่นทั้งส่วนบุคคลและสมาคมโดยไม่มองข้ามการมีส่วนร่วมอันทรงคุณค่าของสถาบันชายหญิงของผู้ถวายตัว” (EC ข้อ 7) ข้อเสนอขององค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมของพระศาสนจักรท้องถิ่นจะได้รับการขอร้องเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของสภาสมณะและสภาอภิบาลซึ่ง “พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันสามารถที่จะเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างแท้จริง” [22] คุณค่าอันเท่าเทียมกันจะเป็นข้อเสนอของหน่วยงานของพระศาสนจักรอื่นๆ ที่จะมีการส่งเอกสารเตรียมไปให้ รวมทั้งของผู้ที่ประสงค์จะส่งข้อเสนอของตนโดยตรง สุดท้ายสิ่งที่มีความสำคัญขั้นพื้นฐานที่เสียงของคนยากจนและคนที่ถูกตัดออกจากสังคมจะต้องมีพื้นที่ให้พวกเขายืน ไม่ใช่มีเพียงแค่เสียงของบางคนที่มีบทบาท หรือความรับผิดชอบในบางสิ่งบางอย่างภายในพระศาสนจักร

32. เนื้อหาที่พระศาสนจักรแต่ละแห่งจะสรุปเมื่อสิ้นสุดขั้นตอนของการปรึกษาหารือและการไตร่ตรองจะเป็นข้อเสนอให้กับการเดินทางของพระศาสนจักรสากล เพื่อที่จะทำให้ขั้นตอนต่อไปง่ายขึ้น และยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นถึงผลของคำภาวนาและการไตร่ตรองด้วยการอธิบายไม่เกิน 10 หน้า หากจำเป็นในการรวบรวมบทความและอธิบายให้ได้ดียิ่งขึ้นบทความอื่นสามารถนำมาผนึกเข้าไปได้เป็นภาคผนวกเพื่อเป็นการสนับสนุน พวกเราพึงรำลึกถึงเป้าหมายของการก้าวเดินไปด้วยกัน ดังนั้นการปรึกษาหารือกันนี้จึงมิใช่เป็นการผลิตเอกสารสวยหรูเท่านั้น แต่ต้องเป็น “การสร้างความฝันที่ได้มาจากการพยากรณ์ และวิสัยทัศน์ รวมทั้งความหวังที่จะเจริญเติบโต อันเป็นแรงบันดาลใจให้กับความไว้วางใจ ที่เยียวยาบาดแผล ที่ประสานความสัมพันธ์กัน ที่สร้างรุ่งอรุณแห่งความหวัง ที่จะเรียนรู้จากกันและกัน และที่จะสร้างทรัพยากรอันประเสริฐเลิศหรูซึ่งจะจุดประกายให้กับจิตใจ ที่จะมีหัวใจที่อบอุ่น และสร้างพลังให้กับมือของพวกเรา” [23]